Thursday, October 11, 2012

CSR Thailand 2012

ในวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคมนี้ CSR Club ที่ก่อตั้งโดยบริษัทจดทะเบียน 27 แห่ง และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เมื่อปี 2552 โดยได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต.จะมีการจัดงานสัมมนาประจำปี CSR Thailand 2012 “License to operate: ปรับให้ทัน...สังคมเปลี่ยน” ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เนื่องจาก CSR Club ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งเครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคมอาเซียนภาคเอกชน (ASEAN CSR Network) เมื่อปี 2554 ร่วมกับองค์กรจากชาติสมาชิกอาเซียนอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ชุมนุมธุรกิจอินโดนีเซีย (Indonesia Business Links) หอการค้าระหว่างประเทศมาเลเซีย (International Chamber of Commerce-Malaysia) สันนิบาตมูลนิธิในสังกัดภาคเอกชนฟิลิปปินส์ (League of Corporate Foundations, Philippines) และกลุ่มความตกลงว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมภาคเอกชนสิงคโปร์ (Singapore Compact for CSR) รวมทั้งมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) ด้วย

วัตถุประสงค์สำคัญๆ ของ ASEAN CSR Network คือการแสวงหาโอกาสในการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยน เป็นที่พบปะพูดจาหารือประเด็นและข้อห่วงใยในระดับภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนและเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับหลักการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นบรรทัดฐานสากล ตลอดจนการเป็นแหล่งรวมข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายแก่มวลสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค

งาน CSR Thailand ในปีนี้ จึงได้เชิญ Mr.Jerry Bernas ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการ ASEAN CSR Network มาถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ “Sharing ASEAN CSR experience” หลังจากการเสวนาในหัวข้อ “ภาคเอกชนขับเคลื่อน CSR ไปอย่างไรบ้าง” ที่นำการเสวนาโดย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานที่ปรึกษาสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงเช้า

ส่วนในช่วงบ่าย คุณเพ็ญศรี สุธีรศานต์ ผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จะเป็นผู้นำการสนทนาในหัวข้อ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง โอกาสและทางออกของธุรกิจไทย” ตามด้วยการเสวนาเรื่อง “How to Change: บทเรียนการเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน”

และเนื่องจากความเข้าใจในกระบวนการดำเนินงาน CSR ของหลายองค์กรที่ยังติดอยู่กับเรื่องของงบประมาณ ภาพลักษณ์ และการขาดความรู้ความเข้าใจ จึงยากต่อการส่งเสริมให้มีการพัฒนา CSR อย่างเป็นรูปธรรม CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จึงมีแนวคิดที่จะเป็นตัวกลางในการรวบรวมองค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับ CSR ของบริษัทจดทะเบียน สำหรับใช้เป็นกรณีศึกษาแห่งการประยุกต์ใช้ในแต่ละองค์กร และเพื่อเป็นแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

ในงานนี้ ทาง CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จึงได้มีการจัดทำหนังสือ “CSR Thailand: 50 Good Practices in 2012” ซึ่งเป็นการประมวลเนื้อหาที่เป็นแนวปฏิบัติหรือการดำเนินงานที่ดีด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจจำนวน 50 บริษัท โดยใช้วิธีเข้าสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง และเก็บรวบรวมข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำมาประมวลและเรียบเรียงเป็นกรณีศึกษาใน 6 หมวด ได้แก่ ชุมชน ลูกค้า พนักงาน สิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลองค์กร และสังคมโดยรวม

ในหนังสือเล่มนี้ ยังได้บรรจุเนื้อหาที่เป็นแนวปฏิบัติสำหรับการพัฒนา CSR ขององค์กรธุรกิจ ซึ่งได้เรียบเรียงขึ้นจากผลการวิจัยของสถาบันไทยพัฒน์ในโครงการพัฒนา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาได้ใช้ประโยชน์จากแนวทางดังกล่าวเพิ่มเติม เผยแพร่ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน CSR Thailand 2012 ในครั้งนี้ด้วย

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน “CSR Thailand 2012” ได้ที่ www.thailca.com เพื่อจองสิทธิ์รับหนังสือ “50 Good Practices in 2012” ความหนา 130 หน้า ในงาน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 04, 2012

ไม่รู้ - เสียรู้ ร้ายพอกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ชมรมสื่อบ้านนอก ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประชานิยม : ชนบทได้หรือเสีย” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐที่มีผลต่อการพัฒนาชนบท ในอันที่จะนำประโยชน์มาสู่การพัฒนาประเทศและแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างคนเมืองและคนชนบท รวมทั้งลดความขัดแย้งในสังคมดังเช่นที่ปรากฏอยู่

ในงานได้จัดให้มีการปาฐกถา โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในหัวข้อ “หลักคิดในการพัฒนาชนบท” ซึ่งเป็นการนำประสบการณ์ในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ในสมัยที่ท่านเคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ. 2523-2531) เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วมาเล่าสู่กันฟัง

ผมได้ลองค้นข้อมูลของสภาพัฒน์ พบว่าในขณะนั้น ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 (2520-2524) ที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2522 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะต้องพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 11.6 ต่อปี นอกจากนี้ ยังเกิดวิกฤตการณ์ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน เช่น กรณีการล้มของบริษัทราชาเงินทุน

และในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 (2525-2529) ที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเกินตัวทั้งของภาครัฐบาลและเอกชน โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ ปัญหาสังคม และปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

จากปาฐกถาดังกล่าว ทำให้ได้เรียนรู้หลักคิดในการพัฒนาชนบท เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า คนชนบทไม่มีความรู้ที่ดีพอต่อการดำรงชีพ ทำให้ทั้งคุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจจึงมีปัญหา ถึงขนาดมีคติว่า ความไม่รู้เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของความยากจน กลายเป็นวงจรอุบาทว์ “ไม่รู้ -> เจ็บ -> จน” ที่ก่อให้เกิดความแร้นแค้นลงไปเรื่อยๆ

การเติมความรู้จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการพัฒนาชนบทในยุคนั้น ทั้งในเรื่องโภชนาการ อนามัย สาธารณสุข การจัดการทรัพยากร และการแปรรูปผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้ตามวิถีของระบบตลาด เพื่อต้องการที่จะขจัดความเจ็บ-จน ให้หมดไป ด้วยหวังว่าวงจรดังกล่าวจะแปรสภาพเป็น “รู้ -> สุขสบาย -> ร่ำรวย” คือ สุขสบาย จากการมี ‘สุขภาวะ’ ที่ดี และ ร่ำรวย จากการมี ‘รายได้’ เพิ่มขึ้น

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (2530-2534) ก็ยังปรากฏว่า ประเทศไทยมีปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ เพราะกลุ่มคนยากจน 20 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย มีสัดส่วนรายได้ลดลง การพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและวัฒนธรรม ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป

กระทั่ง 30 ปีผ่านไป วงจร “รู้ -> สุขสบาย -> ร่ำรวย” ก็มิได้เกิดขึ้นจริงกับคนชนบท ประกอบกับประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากโลกาภิวัตน์ และเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ถูกครอบงำด้วยวิถีของระบบทุนนิยม แปลงสภาพจนมาเป็นระบอบประชานิยมในทางการเมือง โดยใช้ทุนเงินเป็นตัวตั้งในการแก้ไขปัญหา

วงจรอุบาทว์ในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จาก “ไม่รู้ -> เจ็บ -> จน” ได้แปรสภาพมาเป็น “เสียรู้ -> เจ็บ -> จน” วงจรอุบาทว์ใหม่ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน คือ เสียรู้ ในระบบทุนนิยม เจ็บ จาก ‘มลภาวะ’ ที่เป็นผลพวงของการพัฒนา และ จน จากการมี ‘หนี้สิน’ ที่เพิ่มขึ้น ไม่ทันกับรายได้ ซึ่งยังเป็นวงจรอุบาทว์ที่กำลังเกิดขึ้นกับคนเมืองด้วย

จากการเสวนาในครั้งนี้ ทำให้ตระหนักว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยจำเป็นจะต้องมีหลักคิดในการพัฒนาชนบทใหม่ ไม่ใช่อันที่ใช้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งล้มเหลวไปแล้ว การเติมความรู้ในแบบเดิมๆ แม้จะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีต่อผลกระทบทางลบ จากการพัฒนาและกระแสโลกาภิวัตน์ได้เท่าที่ควร

วงจรการพัฒนาที่ควรจะเป็นในปัจจุบัน ได้แก่ “รอบรู้ -> ปกติ -> พอเพียง” คือ ยกระดับจาก ความรู้ เป็นความรอบรู้ความเข้าใจที่กระจ่างและเพียงพอ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวพันทั้งหมด รวมทั้งระบบชีวิตของคนไทย ไม่เสียรู้ไปกับการเติมความรู้และความชำนาญทางวิชาการเฉพาะทาง หรือในแบบแยกส่วน หรือนำเข้ามาจากภายนอกโดยไม่คำนึงถึงความเป็นอยู่ ความต้องการ วัฒนธรรม และความรู้สำนึกในท้องถิ่น

หลักคิดในการพัฒนาใหม่ ควรมุ่งที่ ‘ไม่เจ็บ’ คือเป็นปกติ (ไม่ใช่สุขสบาย) และ ‘ไม่จน’ หรือพอเพียง (ไม่ใช่ร่ำรวย) สอดคล้องกับที่พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า “ถ้าทุกคนเลื่อมใสต้องพอเพียงก็ปฏิบัติเถิด เพราะถ้าปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง มันใช้ได้จริงๆ ไปได้จริงๆ แต่ว่าอาจจะไม่ค่อยสบาย ... เศรษฐกิจพอเพียง คือทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ แต่ถ้าพอเพียงสามารถนำพาประเทศไปได้ดี”

จากบทเรียน 30 กว่าปีที่ผ่านมานี้ เห็นแล้วว่า การขจัดความยากจน โดยมีโจทย์ที่มุ่งสู่ความร่ำรวยมั่งคั่งเป็นที่ตั้ง ได้เป็นกับดักแห่งการพัฒนาของเศรษฐกิจทุนนิยม ที่นำพาประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประสบกับวิกฤตแห่งการพัฒนาดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]