Thursday, July 19, 2012

คุ้มครอง-เคารพ-เยียวยา คาถาสิทธิมนุษยชน

สัปดาห์นี้ ผมจะต้องปั่นรายงานฉบับหนึ่งให้แล้วเสร็จตามกำหนด ที่จะต้องส่งให้แก่ทีมศึกษาเบื้องต้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) และสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR)

โดยขณะนี้ รัฐบาลของหลายประเทศในภูมิภาค ต่างได้ริเริ่มส่งเสริมและจัดทำแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้แก่ภาคเอกชนผ่านทางหน่วยงานต่างๆ อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ หน่วยงานกำกับดูแลด้านการลงทุน องค์การด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน มีฐานการประกอบอุตสาหกรรมและรูปแบบของวิสาหกิจที่หลากหลายไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องมีแนวการศึกษาที่แสดงให้เห็นภาพรวมและเน้นการปฏิบัติได้จริงในประเด็น CSR ที่สัมพันธ์กับเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความพยายามในการทำความเข้าใจสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศสมาชิก ตลอดจนการหาบรรทัดฐานในการจัดทำแนวปฏิบัติร่วมกันในอนาคต

การศึกษาเบื้องต้นในครั้งนี้ จึงได้นำกรอบการทำงานซึ่งเป็นที่ยอมรับ อย่างเช่น หลักการแนวทางสำหรับการนำไปปฏิบัติตามกรอบ "Protect, Respect and Remedy" ที่สหประชาชาติได้ให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 มาใช้เป็นกรอบอ้างอิงในการศึกษาในแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งหลักการแนวทางดังกล่าว มีเนื้อหาสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

หน้าที่ของรัฐต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (State Duty to Protect) อาทิ การกำหนดนโยบายคุ้มครอง การแก้ไข และการลงโทษการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศที่ไปลงทุนทำกิจการ การให้หน่วยงานภาคธุรกิจตระหนักถึงพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐ การเคารพสิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ การดำเนินการให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชนในการทำธุรกรรมทางการค้า ฯ

หน้าที่ของบรรษัทในการเคารพสิทธิมนุษยชน (Corporate Responsibility to Respect) อาทิ การมีนโยบายและกระบวนการในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากกิจกรรมของภาคธุรกิจ การให้ผู้บริหารสูงสุดของภาคธุรกิจแสดงพันธกรณีที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน การให้มีการตรวจสอบผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจของตน และให้มีการตอบสนองผลกระทบนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ การให้มีการสื่อสารกับสาธารณชนเมื่อมีข้อกังวลเกิดขึ้น ฯ

การเข้าถึงการเยียวยา (Access to Remedy) อาทิ การให้รัฐดำเนินการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับการเยียวยาผ่านมาตรการด้านการบริหารและกระบวนการยุติธรรม การส่งเสริมประสิทธิภาพของกลไกกระบวนการยุติธรรมให้สามารถเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ การอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงกลไกการเยียวยาอื่นๆ ที่มิใช่ของรัฐ เช่น กลไกของสมาคมธุรกิจอุตสาหกรรม การให้ภาคธุรกิจสร้างกลไกเยียวยาทั้งในระดับบุคคลและในระดับชุมชน ฯ

จะเห็นได้ว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนกับภาคธุรกิจ เป็นประเด็นที่สหประชาชาติกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จนมีการผลักดันให้มีการจัดทำและรับรองหลักการแนวทางดังกล่าว เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้นำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน มิให้ถูกละเมิดจากการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้เช่นกัน โดยประเทศไทยได้สนับสนุนและร่วมให้การรับรองหลักการแนวทางตามกรอบ "Protect, Respect and Remedy" ดังกล่าวนี้แล้วด้วย (ดาวน์โหลดเอกสารหลักการแนวทางฉบับนี้ได้ที่ http://bit.ly/AHRC1731)

จากนี้ไป ภาคธุรกิจไทย คงจะต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่ส่งผลต่อประเด็น CSR ที่สัมพันธ์กับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และเตรียมมาตรการ กลไกการดำเนินงานที่สนองตอบต่อหลักการแนวทางสำหรับการนำไปปฏิบัติตามกรอบ "คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา" ที่ทั้งสหประชาชาติ อาเซียน และประเทศไทยเอง ได้ให้การรับรองและสนับสนุน ไม่ช้าก็เร็ว...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 12, 2012

คู่มือ CSR สำหรับองค์กรธุรกิจไทย

นับจากเดือนพฤษภาคม ปี 2554 ที่มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำและเผยแพร่ Guidelines for Social Responsibility และ Guidelines for CSR Report ในรูปแบบ Multi-Stakeholder Forum ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียจากหลายภาคส่วน อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งผู้แทนจากภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดจนวิสาหกิจทั่วไป มีแหล่งข้อมูลและเครื่องมือที่สามารถอำนวยความสะดวก และนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินกิจการที่มุ่งคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม การนำไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ อย่างมีความรู้ความเข้าใจตลอดจนการนำไปใช้สนับสนุนการจัดทำรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ที่สอดคล้องกับหลักการสากล

ปัจจุบัน คณะทำงานชุดดังกล่าว ได้จัดคู่มือทั้งสองฉบับเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และนำออกเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยคู่มือฉบับแรกใช้ชื่อว่า “แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ” ซึ่งเป็นแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในแบบฉบับของไทย ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญทั้งหมดของหลักการสากล ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมต่างๆ ได้แก่ ISO 26000, UN Global Compact, GRI รวมถึงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2549 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2551 โดยผนวกกับเนื้อหาเพิ่มเติมด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

เอกสารแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เรียบเรียงขึ้นโดยคณาจารย์ในคณะกรรมการกลุ่มความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนามาตรฐานการเรียนการสอนและการวิจัยด้านบริหารธุรกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทจดทะบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป มีแนววิธีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ที่คำนึงถึงทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

โดยแบ่งออกเป็น 10 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) การกำกับดูแลกิจการที่ดี 2) การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม 3) การต่อต้านการทุจริต 4) การเคารพสิทธิมนุษยชน 5) การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม 6) ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค 7) การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม 8) การจัดการสิ่งแวดล้อม 9) นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรม จากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และ 10) การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน

ส่วนคู่มือฉบับที่สอง ใช้ชื่อว่า “แนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน” ซึ่งอ้างอิงจากแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนขององค์การแห่งความริเริ่ม ว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ในฉบับแปลภาษาไทย เพื่อใช้เป็นเอกสารตั้งต้นสำหรับบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป ใช้ศึกษาทำความเข้าใจถึงแนวทางและวิธีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน

เอกสารแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน เป็นการจัดทำร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทจดทะบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป มีแนววิธีการจัดทำข้อมูลรายงานการดำเนินงานของกิจการ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยอ้างอิงจากกรอบการรายงานของ GRI ที่ประกอบด้วย เนื้อหา คุณภาพ ขอบเขตของการรายงาน มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เกณฑ์วิธีตัวชี้วัด และการวัดระดับการรายงาน

จัดทำขึ้นเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน และส่วนที่เป็นวิธีจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI Sustainability Reporting Guidelines รุ่น 3.1 ซึ่งเป็นฉบับแปลภาษาไทยจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ GRI

แนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนที่จัดทำขึ้นครั้งนี้ สามารถใช้เป็นเอกสารตั้งต้นสำหรับบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป ในการศึกษาทำความเข้าใจถึงแนวทางและวิธีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นช่องทางสื่อสารของ องค์กรในผลการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ แก่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ อย่างมีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ผู้ที่สนใจเอกสารแนวทางทั้งสองฉบับดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ที่ www.csri.or.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 05, 2012

วาระ 50+20 : การศึกษาเพื่อความยั่งยืน

สัปดาห์นี้ ขอรายงานควันหลงจากการประชุมใหญ่ 2 งาน คือ การประชุมก่อน Rio+20 (13-20 มิ.ย.) ที่บราซิล และการประชุม World Ethics Forum 2012 (28-30 มิ.ย.) ที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีหัวข้อในเรื่องเดียวกันอยู่เรื่องหนึ่งคือ วาระ 50+20 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปการศึกษาด้านการบริหารจัดการที่ต้องการปรับเปลี่ยนจากหลักการพัฒนาเพื่อให้เป็นเลิศในโลก (best in the world) มาสู่การพัฒนาบ่มเพาะเพื่อให้เป็นเลิศแก่โลก (best for the world)

ที่มาของความริเริ่ม 50+20 ก่อตัวขึ้นจากสามแหล่ง โดยแหล่งแรกมาจากสภาวิทยาลัยการบริหารธุรกิจโลกเพื่อการบริหารธุรกิจที่ยั่งยืน (World Business School Council of Sustainable Business: WBSCSB) เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 โดยนักวิชาการและคณบดีวิทยาลัยการบริหารธุรกิจจากทั่วโลกที่รวมตัวกันเพื่อที่จะทลายกำแพงการศึกษาด้านการจัดการและการบริหารธุรกิจแบบเดิม ให้มุ่งตอบสนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง

อีกแหล่งหนึ่งเป็นความริเริ่มในภาวะผู้นำที่รับผิดชอบต่อโลก (Globally Responsible Leadership Initiative: GRLI) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของผู้นำในภาคธุรกิจและในภาคการศึกษา มีจุดกำเนิดในช่วงต้นปี 2546 โดยมีหลักการแรกเริ่มของกลุ่มว่า "FIRST WHO, THEN WHAT” และได้พัฒนาเรื่อยมาจนมาถึงการก่อตั้งโครงการ SB21 เพื่อพัฒนาพิมพ์เขียวสำหรับวิทยาลัยการบริหารธุรกิจในศตวรรษที่ 21

ขณะที่ สหประชาชาติก็ได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาหลักการศึกษาด้านการบริหารจัดการที่รับผิดชอบ (Principles of Responsible Management Education: PRME) ในปี 2550 ด้วยความร่วมมือของผู้นำในภาคการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ในการวางรากฐานของหลักการศึกษาด้านการบริหารจัดการที่มีความรับผิดชอบเผยแพร่สู่ภาคการศึกษา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา และวิทยาลัยการบริหารธุรกิจต่างๆ ได้ร่วมลงนามรับหลักการนี้แล้วจำนวน 456 แห่ง (มีมหาวิทยาลัยของไทย 2 แห่ง)

โดยเมื่อเดือนมกราคม 2554 ทั้งสามองค์กรได้บรรลุข้อตกลงที่จะช่วยเหลือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญเพื่อการปฏิรูปการศึกษาด้านการบริหารจัดการร่วมกัน ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า 50+20 (มาจากตัวเลขระยะเวลา 50 ปี นับตั้งแต่ที่วาระการศึกษาด้านการบริหารจัดการได้ถือกำเนิดขึ้นในทศวรรษ 1950 บวกกับตัวเลขระยะเวลา 20 ปีนับจากการประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อปี ค.ศ. 1992)

โครงการ 50+20 มีจุดมุ่งหมายที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาด้านการบริหารจัดการ โดยได้มี การจัดทำวาระ 50+20 ที่ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ ความท้าทาย แนวทางและวิธีการใหม่ในการจัดการศึกษาด้านการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้มีการนำเสนอในช่วงการประชุม Rio+20 ที่ผ่านมา (ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ http://bit.ly/50plus20)

เอกสารวิสัยทัศน์ฉบับนี้ ใช้ระยะเวลาในการจัดทำราว 18 เดือน โดยผ่านกระบวนการปรึกษาหารือร่วมกับผู้นำ นักการศึกษา และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ รวมทั้งการประมวลตัวอย่างและมาตรฐานของการทำงานร่วมกัน (มากกว่าแนวทางการแข่งขัน) ทางการศึกษา ที่จะนำไปสู่บรรทัดฐานใหม่ในการศึกษาด้านการบริหารจัดการ

ภายใต้ความร่วมมือของ WBSCSB, GRLI และ PRME ในโครงการนี้ นอกจากการเผยแพร่เอกสารวาระ 50+20 ฉบับดังกล่าวแล้ว ทั้งสามองค์กรยังมีแผนที่จะจัดทำเอกสารเผยแพร่แนวการจัดการศึกษาด้านการบริหารจัดการในอนาคต รวมทั้งการริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยการบริหารธุรกิจทั่วโลก เพื่อนำเสนอกรณีศึกษา วิถีการปฏิบัติ และหนทางที่คิดค้นขึ้นใหม่ในการจัดการศึกษาด้านการบริหารจัดการที่มีความรับผิดชอบและที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการก่อตั้งวิทยาลัยการบริหารธุรกิจใหม่ 5 แห่งในแต่ละภูมิภาค (เอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอฟริกา) เพื่อเป็นต้นแบบของวิทยาลัยการบริหารธุรกิจแนวใหม่ด้วย

อย่างน้อยที่สุด เราได้เห็นบุคคลกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาทำงานและมีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงอาณาจักรทางการศึกษาที่มีอิทธิพลทางความคิดแก่มวลมนุษย์มาร่วมครึ่งชีวิต ซึ่งภาคการศึกษาเอง ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบในผลแห่งการพัฒนาที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และจะต้องตระหนักถึงปัจจัยที่จะต้องปรับรื้อรากฐานทางความคิดเพื่อให้สอดรับกับบริบทของโลกปัจจุบันไม่มากก็น้อย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]