Thursday, May 24, 2012

เศรษฐกิจพอเพียง 2.0

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดทำชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2547 และได้ให้การสนับสนุนการวิจัยในหัวข้อเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจชุมชน พุทธเศรษฐศาสตร์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาสู่การปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ มากว่าหนึ่งทศวรรษ

ด้วยความเชื่อร่วมกันขององค์กรที่ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าสำหรับประเทศไทยและสังคมโลก เศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจทางเลือกในรูปแบบอื่นๆ ที่ต่างไปจากทุนนิยมเสรีที่ครอบงำความคิดของโลกในขณะนี้ รวมทั้งในประเทศที่อ้างตัวเองว่าเป็นประเทศสังคมนิยม ล้วนนำไปสู่หายนะ ของมนุษยชาติ เนื่องจากเป็นเศรษฐกิจที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการอย่างไร้ขีดจำกัด ขณะที่ทรัพยากรของโลกมีจำกัด อีกทั้ง ความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ ก็มิได้เกี่ยวกับความสามารถในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์อันไม่มีขีดจำกัดเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในทศวรรษที่ผ่านมา ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ดูจะมีความก้าวหน้ามากที่สุด ด้วยการที่ธุรกิจพยายามหาทางออกและหลีกหนีการล้มละลายของกิจการ จากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจ และพบว่าแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถนำมาปฏิบัติและใช้ได้ผลจริง

ในส่วนภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรรายย่อย พบว่าการทำการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นความสามารถในการพึ่งตนเองเป็นหลักโดยไม่พึ่งตลาดจนเกินความจำเป็นนั้น เป็นแนวทางที่สามารถช่วยให้ตัวเองอยู่ได้และมีชีวิตอย่างมีความสุข ทั้งสองภาคนี้จึงขับเคลื่อนไปได้บนฐานความสำเร็จของตนเอง

อุปสรรคสำคัญของประเทศไทยอยู่ที่ ‘ธุรกิจการเมือง’ ซึ่งเป็นผลของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่ถูกครอบงำโดยทุนนิยมและเสรีนิยม ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่รู้เท่าทันและติดกับดักนโยบายประชานิยม อันเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ

ธุรกิจการเมืองในลักษณะที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ มีการดำเนินนโยบายที่สวนทางกับเศรษฐกิจพอเพียง และได้รับการค้ำยันโดยธุรกิจตามปกติ (Business as usual) ที่เน้นการหากำไรให้ได้มากที่สุด ผนวกกับภาคราชการที่ถูกครอบงำโดยธุรกิจการเมือง ซึ่งแทนที่จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเสียเอง

ขณะเดียวกัน ภาคอุดมศึกษาซึ่งควรจะทำหน้าที่เป็นผู้นำทางปัญญาและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง แต่เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ และประกอบกับการได้รับอิทธิพลของตะวันตก ทำให้นักวิชาการส่วนใหญ่ในระบบยังถูกครอบงำด้วยความคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก จนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นกัน

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ที่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ก็เป็นเพราะอุปสรรคที่เกิดจากธุรกิจการเมือง การเมืองส่วนท้องถิ่น ภาคราชการ และสถาบันอุดมศึกษา ที่มีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อน ดังนั้นยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในทศวรรษหน้า จึงต้องมุ่งแก้ปัญหาที่สามส่วนนี้เป็นสำคัญ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จึงได้ร่วมกับองค์กร/หน่วยงาน/สถาบันหลายแห่ง เป็นเจ้าภาพในการวิจัยและจัดการประชุม “ทศวรรษต่อไปของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง” ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เวลา 8.00–17.00 น. โดยจะเป็นการระดมสมองของภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทศวรรษต่อไป (2556-2565) เพื่อสกัดประเด็นสำคัญ 2 ประการ คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคส่วนต่างๆ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีความสำเร็จและอุปสรรคอย่างไร และเพื่อแก้ปัญหาจากอุปสรรคที่เผชิญอยู่สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงต่อไปในทศวรรษหน้า เราต้องการความรู้อะไรเพิ่มเติม และจะดำเนินงานขับเคลื่อนต่อไปในลักษณะใด

ผู้สนใจสามารถติดตามและสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (TRF) และสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม (RASMI) มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/trf-rasmi...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, May 17, 2012

CSR ที่แลกไม่ได้

เป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์นับจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้จากสารโทลูอีนของบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ ในเครือบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ (BST) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และการรั่วไหลของก๊าซคลอรีนของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลส์ (ประเทศไทย) ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก

เหตุการณ์ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรมที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 12 คน และมีผู้บาดเจ็บถึง 137 คน

แม้สาเหตุการระเบิดจะยังไม่สามารถสรุปได้ แต่เชื่อว่าน่าจะมาจากความผิดพลาดหรือความบกพร่องในการสื่อสารระหว่างทีมงานของโรงงานกับทีมผู้รับเหมาในช่วงของการหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงและมีการฉีดสารโทลูอีนเพื่อล้างสำหรับการเตรียมความพร้อมการเดินเครื่องผลิตใหม่โดยกระบวนการดังกล่าว บริษัทได้ว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามาร่วมดำเนินการ

วิศวกรผู้ปฏิบัติอยู่หน้างานจะทราบกันดีว่าช่วงหยุดซ่อมบำรุงและเดินเครื่องใหม่ จะเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่สุด ขณะที่แผนรองรับอุบัติสาธารณภัยทั่วไปจะครอบคลุมในช่วงของการเดินเครื่องผลิตปกติ ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ หากเกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติงาน

หากข้อสันนิษฐานเป็นจริง แสดงว่าเหตุการณ์ที่น่าสลดใจครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่โรงงานใช้ผู้รับเหมาที่ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือขาดความเข้มงวดในขั้นตอนการทำงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) จนทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น แม้ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ประจำบริษัทโดยตรง แต่ก็อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บทเรียนนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการที่บริษัทต้องให้ความสำคัญในมาตรการความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการผลิตของบริษัท ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัท แต่ยังต้องสามารถถ่ายทอดความเข้มข้นในมาตรการ CSR ดังกล่าว ไปยังคู่ค้าทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในกรณีนี้คือ ผู้รับเหมางานซ่อมบำรุงที่บริษัทจ้างวานให้เข้ามาดำเนินการร่วม

เพราะจากเหตุการณ์ดังกล่าว แม้โรงงานจะมีหลักประกันคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของบริษัท แต่ก็เทียบไม่ได้กับความสูญเสียในชีวิตและผลกระทบกับชุมชนที่อยู่รายรอบ ยังไม่นับรวมความสูญเสียทางธุรกิจจากการถูกระงับการดำเนินงาน และเครดิตของบริษัทที่สั่งสมมาด้วยความอุตสาหะที่ต้องมานับหนึ่งใหม่ และก็ใช่ว่าจะกลับมาได้ดังเดิม

ตอกย้ำถึงความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) ที่ไม่สามารถแลก (Trade-off) มาด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR-after-process) ด้วยการให้สิ่งโน่น นี่ นั่นกับชุมชน

ผลพวงจากเหตุการณ์นี้ จะนำไปสู่ความเคลื่อนไหวในหลายประเด็นทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคชุมชน ที่จะต้องติดตามว่าจะป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจังและยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร

กิจกรรมสำเร็จรูปที่จะได้เห็นจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ แก้ไข ติดตาม เตือนภัย ฯ ในพื้นที่ พร้อมกับการปรับปรุง ยกเครื่อง ยกร่าง ฯ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และคงจะมีการตั้งกองทุน เยียวยา ฟื้นฟู ดูแล ฯ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในชุมชนรอบนิคมติดตามมา

ภาคประชาสังคมจะมีข้อเรียกร้องและมาตรการเชิงรุกที่เบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น บนพื้นฐานของปัญหาที่ฝังรากลึก ความไม่ไว้วางใจผู้ประกอบการที่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไม่มีสำนึก และการปลุกเร้ากระแส ‘ไม่เอาโรงงาน’ ที่มีอันตรายในพื้นที่

ขณะที่ภาคชุมชนหรือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมักเป็นผู้ถูกกระทำหรือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรม จะยิ่งมีความหวาดระแวงต่อการดำเนินงานของเอกชนและต่อความจริงใจของหน่วยงานรัฐในการแก้ไขปัญหาและดูแลสวัสดิภาพของชาวบ้าน ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับมลพิษ วัตถุอันตราย หรือรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) รวมถึงการมีส่วนร่วมในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในกรณีฉุกเฉินมากนัก

สิ่งที่เอกชนควรดำเนินการโดยไม่ต้องรอการเรียกร้องจากภาคีใดๆ ก็คือ การทบทวนบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดสายกระบวนการผลิต กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ทั้งพนักงาน ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ตรวจสอบ ผู้รับเหมา ที่ปรึกษาจากภายนอก ฯ ให้มีมาตรฐานการปฏิบัติงานที่คำนึงถึงความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในระดับปฏิบัติจริงๆ

การมีเพียงแผนปฏิบัติการโดยมิได้ลงมือทำหรือซักซ้อมกันอย่างจริงจัง พิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ช่วยป้องกันชีวิตและทรัพย์สินใดๆ ได้ แม้แต่น้อย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, May 10, 2012

ตั้งไข่ให้ CSR

เมื่อถามว่า ปัจจัยใดที่ถือเป็นหัวใจสำคัญแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อน CSR ของกิจการ คำตอบอาจจะมีได้หลากหลายขึ้นอยู่กับสถานะที่องค์กรเป็นอยู่ในขณะนั้น

บางแห่งจะบอกว่า ต้องมีนโยบาย แผนงาน และกลยุทธ์ CSR ที่ชัดเจนจึงจะสำเร็จ ขณะที่หลายองค์กรก็จะบอกว่า ต้องผนวกเรื่อง CSR เข้าไปในการดำเนินธุรกิจ ผังโครงสร้างองค์กร และกลไกในการกำกับดูแลองค์กรจึงจะสำเร็จ ส่วนอีกหลายแห่งอาจมีคำตอบที่ต่างออกไปว่า ต้องสามารถระบุและสร้างสัมพันธภาพกับผู้มีส่วนได้เสียให้ได้ก่อนดำเนินงาน CSR จึงจะสำเร็จ

ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ CSR การบูรณาการ CSR หรือการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัย “คน” เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน การให้ความสำคัญกับคนหรือบุคลากรในองค์กรจึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการตั้งต้นความสำเร็จในการขับเคลื่อน CSR ของกิจการ

คนในองค์กรแบ่งได้เป็น 2 ระดับใหญ่ๆ คือ บุคคลซึ่งมีหน้าที่ในการบริหาร และบุคคลซึ่งทำงานในระดับปฏิบัติการในสายงานต่างๆ

ทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ สิ่งสำคัญพื้นฐานที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นก่อน คือ ความรู้ความเข้าใจเรื่อง CSR ที่ถูกต้องตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องขอบเขตของ CSR ที่มักเข้าใจไม่ค่อยตรงกัน หลายคนยังเห็นว่า CSR คือ เรื่องที่ธุรกิจทำประโยชน์ให้สังคม (จะด้วยความจำใจหรือสมัครใจก็ตาม) ในรูปของกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR-after-process) โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้องานที่ตนเองทำอยู่

ซึ่งความจริงแล้ว ความรับผิดชอบในกระบวนการ (CSR-in-process) หรืองานในหน้าที่นั้น มีความสำคัญยิ่งกว่ากิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งมักเป็น Event เสียส่วนใหญ่

ความรับผิดชอบในกระบวนการนี้ เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งลูกค้า คู่ค้า ชุมชน สิ่งแวดล้อม ในสายอุปทาน (องค์กรถึงต้นน้ำ) และสายคุณค่า (ต้นน้ำยันปลายน้ำ) ไม่เพียงแต่สังคมและสิ่งแวดล้อมที่อยู่วงนอกอย่างเดียว

หลักคิดในกรณีดังกล่าว คือ “อย่าพยายามทำ CSR ให้เป็นงาน แต่เน้นทำงานให้มี CSR

นักบริหารในฐานะผู้นำองค์กร ควรต้องให้ความสำคัญกับการดำรงบทบาทการเป็นผู้นำกระบวนการ (Process Leadership) ที่มีความต่อเนื่องเป็นกิจลักษณะ มากกว่าบทบาทการเป็นผู้นำกิจกรรม (Event Leadership) ที่จัดเป็นครั้งๆ ตามโอกาสในเชิงสัญลักษณ์

สิ่งสำคัญถัดมา คือ การให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR โดยชี้ให้เห็นถึงคุณค่าหรือประโยชน์ที่จะได้รับ (ในแง่ขององค์กร) อย่างเป็นรูปธรรมได้ เช่น องค์กรที่ทำ CSR อย่างจริงจัง สามารถลดข้อขัดแย้ง (Minimize Conflict) ระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ลงได้ และเป็นเหตุให้ธุรกิจสามารถทุ่มเทเวลาในการสร้างผลกำไรสูงสุด (Maximize Profit) โดยที่ไม่เกิดความชะงักงัน กำไรหรือความมั่งคั่งที่เกิดแก่ผู้ถือหุ้น ก็มีความชอบธรรม เพราะไม่ได้กลบผลเสียหรือทิ้งปัญหาไว้เบื้องหลังให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียอื่น

สิ่งสำคัญประการสุดท้าย ก่อนที่จะลงมือขับเคลื่อน CSR ให้ได้เป็นผลสำเร็จ คือ “รู้เขา รู้เรา” เนื่องมาจากว่า ความสำเร็จของ CSR ไม่ได้เกิดจากการนั่งเทียน นึก หรือทึกทักเอาเองว่า สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ มีความต้องการแบบนั้นแบบนี้ หรือองค์กรเคยดำเนินงาน CSR แบบนี้ แล้วประสบผลตอบรับดี (คำเตือน: ผลการดำเนินงานที่ดีในอดีต ไม่ได้บ่งบอกถึงผลตอบรับในอนาคต) เพราะความคาดหวังของสังคมและผู้มีส่วนได้เสียจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา (และอารมณ์ที่มีต่อท่าทีขององค์กร) การ “รู้เขา” จึงมีความสำคัญสำหรับการตรวจสอบความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียของกิจการในช่วงเวลานั้นๆ

แต่ใช่ว่า กิจการสามารถตอบสนองต่อทุกความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียได้พร้อมกัน เพราะด้วยข้อจำกัดของทรัพยากร เวลา และบุคลากรที่มีอยู่ การ “รู้เรา” จึงเป็นเครื่องมือในการกำหนดสิ่งที่จะดำเนินการด้าน CSR ขององค์กรในภาคปฏิบัติ โดยคำนึงถึงตัวแปร 3 ประการ ได้แก่ ความเกี่ยวเนื่อง (Relevance) ความมีนัยสำคัญ (Significance) และลำดับความสำคัญ (Priority) ของกิจกรรม CSR ที่จะดำเนินการทั้งในกระบวนการและนอกกระบวนการ

หวังว่าการตั้งไข่ความสำเร็จในการขับเคลื่อน CSR ของกิจการทั้ง 3 ข้อข้างต้น คงจะช่วยให้ธุรกิจที่กำลังทำ CSR และไม่แน่ใจว่าองค์กรของตนเองเริ่มต้นได้อย่างถูกทางหรือไม่ จะได้แนวทางในการปรับแต่งการดำเนินงาน CSR ของกิจการ ให้มุ่งไปสู่ผลสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, May 03, 2012

สื่อสาร CSR ดีหรือไม่ดี

คำถามหนึ่งที่พบบ่อยสำหรับองค์กรที่ทำ CSR แบบบ้านๆ คือ “จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องสื่อสารหรือบอกกล่าวให้สังคมหรือผู้อื่นได้รับรู้ถึงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร

ยิ่งไปกว่านั้น บางองค์กรที่ทำ CSR บอกเลยว่า เราไม่เคยตั้งงบสำหรับทำประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารโฆษณางาน CSR ขององค์กร และยังสำทับด้วยว่า ทำความดีแบบของจริง ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ อ้างตำรา “ปิดทองหลังพระ” เข้านั่น

ไม่มีตรรกะหรือข้อเท็จจริงใดนะครับที่บอกว่า ทำความดี แบบปิดทองหลังพระ คือ ดีจริง แต่ถ้าทำความดีแบบป่าวประกาศให้ผู้อื่นรู้ คือ ดีไม่จริง

ลองถ้าได้ ‘ทำดี’ แบบเดียวกันแล้ว ไม่ว่าจะประกาศหรือไม่ ‘ความดี’ นั้น ก็ยังมีปริมาณตามที่ได้ทำอยู่เหมือนเดิม

ต่างจากการ ‘ทำดีเล็กน้อย’ แต่คุยโวว่าเป็น ‘ความดีมหาศาล’ เป็นการขยายปริมาณสิ่งที่ได้ทำเกินจริง ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า พฤติกรรมนี้ไม่น่าพึงประสงค์ เข้าข่ายโกหกหลอกลวง ผิดศีลข้อ 4 ด้วยซ้ำ

ฉะนั้น การบอกกล่าว ‘ความดี’ ตามที่ทำจริง จึงอยู่ในวิสัยที่กระทำได้ ไม่จำเป็นต้องยกตำราปิดทองหลังพระ มาใช้เป็นเหตุผลเพื่อให้สบายใจว่า ไม่ใช่เพราะตนเองสื่อสารไม่เป็น หรือไม่สามารถบอกให้คนอื่นเห็นความดีของตนได้

เพราะหากยึดตามที่ราชบัณฑิตยสถานแปลคำว่า ปิดทองหลังพระ คือ ‘ทําความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่อง เพราะไม่มีใครเห็นคุณค่า’ ยิ่งทำให้เข้าใจขึ้นไปอีกว่า ปิดทองหลังพระ ไม่ใช่ทำนอง ‘ดีจริงต้องปกปิด’ แน่ๆ

ในบุญกิริยาวัตถุ 10 ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือทางทำความดี มีทั้งเรื่อง ‘ปัตติทานมัย’ คือ การทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น (คือ การบอกกล่าวหรืออุทิศให้อนุโมทนา) กับ ‘ปัตตานุโมทนามัย’ คือ การทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น (คือ การอนุโมทนาเมื่อได้ยินการบอกกล่าวหรือได้รับรู้)

หมายความว่า บุญยังเกิดจากการอุทิศบุญที่ตนเองได้ทำ ให้แก่ผู้อื่น และยังเกิดจากการยินดีในบุญที่ผู้อื่นได้ทำด้วย ฉะนั้น หากองค์กรที่ได้ทำ CSR แล้วบอกกล่าวแก่สังคมหรือผู้อื่นให้ได้อนุโมทนาหรือพลอยยินดีตามด้วย ก็ถือว่า องค์กรได้ทำ ‘ปัตติทานมัย’ และสังคมได้ทำ ‘ปัตตานุโมทนามัย’

แต่หากองค์กรไม่บอกกล่าว หรือสื่อสารไม่เป็น หรือเจตนาที่จะคุยโวโอ้อวด แทนที่ผู้อื่นจะได้อนุโมทนา แต่กลับไม่ยินดีด้วย หนำซ้ำเกิดความหมั่นไส้ ทั้ง ปัตติทานมัย และ ปัตตานุโมทนามัย ก็ไม่เกิดทั้งคู่

จะเห็นว่า นอกจากที่การทำ CSR ของจริงจะได้บุญแล้ว เรายังสามารถสื่อสารเรื่อง CSR ที่ได้ทำไปนั้น เพื่อยังให้เกิดบุญได้อีกต่อหนึ่งด้วย

สำหรับผู้ที่มีคำถามว่า บุญที่ได้ทำจากกิจกรรม CSR ปริมาณหนึ่ง หากเฉลี่ยส่วนบุญนี้ให้แก่ผู้อื่น บุญที่ได้จากการทำนั้น จะลดลงตามส่วนหรือไม่

ในอรรถกถา พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ ได้ตอบคำถามแก่นายอันนภาระ คนหาบหญ้าผู้ไม่ค่อยมีอันจะกิน ได้ถวายบิณฑบาตที่มีบุญมาก แล้วมีเศรษฐีมาขอแบ่งส่วนบุญ ว่าควรให้หรือไม่ควรให้ ดังนี้

“… บัณฑิต เราจักทำอุปมาแก่ท่าน เหมือนอย่างว่า
ในบ้านตำบลนี้มีร้อยตระกูล เราจุดประทีปไว้ในเรือนหลังหนึ่งเท่านั้น
ตระกูลพวกนี้เอาน้ำมันเติมให้ใส้ตะเกียงชุ่มแล้วมาต่อไฟถือไป
แสงของประทีปดวงเดิมยังมีอยู่หรือหาไม่

นายอันนภาระกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า
แสงประทีปก็สว่างขึ้นไปอีก เจ้าข้า

ข้อนี้อุปมาฉันใด ดูก่อนบัณฑิต
ข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง หรือข้าวสวยทัพพีหนึ่งจงยกไว้
เมื่อท่านให้ส่วนบุญแก่คนเหล่าอื่นในบิณฑบาตของตน
พันคนหรือแสนคนก็ตาม ให้แก่คนเท่าใด
บุญก็เพิ่มขึ้นแก่ตนมีประมาณเท่านั้น

เมื่อท่านให้ก็ให้บิณฑบาตอันเดียวนั่นแหละ
ต่อเมื่อให้ส่วนบุญแก่สุมนเศรษฐีอีกเล่า
บิณฑบาตก็ขยายไปเป็น 2
คือของท่านส่วนหนึ่ง ของเศรษฐีส่วนหนึ่ง ดังนี้...”

ดังนั้น หลักการสื่อสารความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (ที่ได้จากพุทธธรรม) ก็คือ บอกตามจริง (เพื่อไม่ให้ผิดศีล) และสื่อสารเป็น (เพื่อให้เกิดการอนุโมทนาตามบุญกิริยาวัตถุ)

เอวัง การสื่อสารเรื่อง CSR ก็มีด้วยประการฉะนี้ แล...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]