Thursday, August 18, 2011

ยกขีดแข่งขันด้วย CSR

ทุกวันนี้ มีการพูดกันอย่างกว้างขวางถึงการนำ CSR มาเป็นเครื่องมือช่วยสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันตามโมเดลของไมเคิล อี พอร์เตอร์ ที่แบ่งออกเป็น Responsive CSR กับ Strategic CSR บทความนี้จะพยายามขยายความถึงฐานคิดในเรื่องดังกล่าวว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และองค์กรจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

คำว่า Responsive ถ้าจะอธิบายอย่างง่ายในบริบทของ CSR คือ ความที่องค์กร Respond ในเรื่องที่เป็นผลกระทบอันมีสาเหตุจากการประกอบกิจการ หากมองในเชิงอุดมคติ ถ้าองค์กรไม่ได้ไปทำให้ใครเดือดร้อน ก็อาจจะไม่ต้องทำ CSR ก็ได้ แต่ในความเป็นจริง กระบวนการในทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การส่งมอบ การจำหน่าย การบริการ ฯลฯ ย่อมต้องเกิดผลภายนอก (Externalities) ไม่มากก็น้อย ฉะนั้น การที่ชาวบ้านเดินมาหาโรงงาน บอกว่าเขาได้รับผลกระทบจากจากน้ำทิ้ง กลิ่นเหม็น อากาศเสีย หากโรงงานไม่ดำเนินการอะไรเลย นั่นแสดงว่า ไม่มี CSR

การที่องค์กรรับที่จะดำเนินการตามที่ชาวบ้านร้องขอ อันนี้เรียกว่า Responsive คือ React ในสิ่งที่ตนเองได้สร้างผลกระทบไว้ ซึ่งพอร์เตอร์กล่าวไว้ว่า การที่องค์กรตอบสนองต่อข้อท้วงติงหรือข้อเรียกร้องเช่นนี้ องค์กรจะได้รับการยอมรับในฐานะ Good Citizen ในสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้

ทีนี้ ในมุมมองพอร์เตอร์ยังขยายความต่อว่า แม้องค์กรจะได้ทำเรื่อง Responsive CSR ครบถ้วนดีแล้ว แต่ก็อาจไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันที่ทุกธุรกิจให้ความสำคัญ เพราะการดำเนินงาน CSR ในเชิงรับ องค์กรไม่สามารถกำหนดประเด็นการดำเนินงานทางสังคมได้เอง ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) และเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จหนึ่งของการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน

Corporate Involvement in Society: A Strategic Approach (Porter and Kramer, 2006)

แนวคิดของ CSR เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic CSR ซึ่งก็คือการทำ CSR ในเชิงรุก จึงถูกพอร์เตอร์หยิบยกขึ้นมานำเสนอ โดยที่องค์กรเป็นผู้หยิบยกประเด็นทางสังคมขึ้นมาวิเคราะห์และเลือกดำเนินการให้สอดรับกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ รวมทั้งเกื้อหนุนกับพันธกิจ ตลอดจนขับเน้นค่านิยมขององค์กรอย่างผสมผสานกลมกลืน

อย่างไรก็ตาม การที่องค์กรหลายแห่งลุกขึ้นมาประกาศว่าจะเข้าไปทำงานเชิงรุกกับสังคม แต่หากผลกระทบทางลบจากกิจการที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยังไม่ได้ทำ Responsive CSR การแสวงหาความแตกต่างหรือมุ่งเน้นพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วย Strategic CSR ก็จะไม่เป็นผล เนื่องเพราะองค์กรยังละเลยสิ่งที่เป็น Minimum Requirement ที่ควรต้องดำเนินการอยู่

ดังนั้น การทำ CSR เชิงกลยุทธ์ จึงมิได้มาทดแทน Responsive CSR แต่เป็นสิ่งที่องค์กรต้องมีพัฒนาการ ตั้งแต่การทำ CSR ในเชิงรับ (ที่เน้นแก้ไขผลกระทบทางลบ) จนมาสู่ CSR ในเชิงรุก (ที่เน้นเสริมสร้างผลกระทบทางบวก) อย่างเป็นลำดับขั้น...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, August 11, 2011

ปรับ ครม. ในวันแม่กันเถอะ

ต้องขออภัยท่านผู้อ่าน หากจะทำให้บทความนี้เป็นที่สนใจ เพราะคำพาดหัว ซึ่งมิได้เกี่ยวอะไรกับการเมืองหรือคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของประเทศไทยแต่อย่างใด แต่อยากจะดึงดูดความสนใจของท่านในเบื้องแรก เพื่อให้มาสำรวจและปรับปรุง ‘ความรับผิดชอบต่อมารดา’ (Mother Responsibility) เนื่องในวันแม่ที่มาถึงนี้ครับ

ผมยังดีใจอยู่ว่าชาวไทย (รวมถึงชาวตะวันออกฟากเอเชียด้วยกันหลายประเทศ) ยังมีความผูกพันและดูแลซึ่งกันและกันฉันท์ครอบครัวอยู่มาก แต่ก็น่าเป็นห่วงว่าคนรุ่นหนุ่มสาวยุคนี้มีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตแบบครอบครัวเชิงเดี่ยวเพิ่มสูงขึ้น เช่น เมื่อแต่งงานก็แยกออกไปใช้ชีวิตร่วมกันไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ หรือสภาพการงานบังคับให้ต้องจากรกรากเดิมมาใช้ชีวิตในเมืองใกล้ที่ทำงาน ทำให้ความสัมพันธ์กับพ่อแม่มิได้ใกล้ชิดเหมือนแต่ก่อน

แม้คนไทยจะยังมีการปลูกฝังถ่ายทอดเรื่องความกตัญญู (รู้คุณ) กตเวทิตา (แทนคุณ) ต่อผู้มีพระคุณจากรุ่นสู่รุ่นได้ค่อนข้างดี จนมีภาพสะท้อนเป็นที่รับรู้กันว่าสังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่มีความเกื้อกูล เป็นสังคมอุปถัมภ์ แต่ด้วยสภาพครอบครัวและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะครอบครัวเชิงเดี่ยวที่สมาชิกแต่ละรุ่น (ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูก หลาน) ไม่ได้อาศัยอยู่รวมกัน การตอบแทนคุณบิดามารดาจึงมีเงื่อนไขเรื่องระยะทางและเวลามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในหลักธรรมเรื่องทิศ 6 บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า ดังนี้ 1) ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ 2) ช่วยทำการงานของท่าน 3) ดำรงวงศ์สกุล 4) ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท 5) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

ในข้อแรก การแทนคุณของหนุ่มสาวสมัยใหม่ คือ การให้เงินท่าน สิ้นเดือนเงินเดือนออก ก็จัดสรรเงินส่วนหนึ่งมอบให้ท่านไว้จับจ่ายใช้สอย ความรับผิดชอบต่อมารดา (ครม.) ที่อยากให้สำรวจและปรับปรุงเพิ่มเติม คือ เอาใจใส่ในการกินอยู่หลับนอนของท่าน ไม่ให้เดือดร้อนหรือลำบาก จัดหาเครื่องใช้ไม้สอยหรือเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามอายุขัยของท่านที่เพิ่มขึ้น หรือยามเจ็บไข้ก็เป็นธุระจัดแจงเรื่องหมอ หยูกยาต่างๆ และปรนนิบัติให้ท่านหายหรือทุเลาจากเจ็บป่วย

ในข้อที่สอง เป็นเรื่องการแบ่งเบาภาระทั้งการงานและการบ้าน ทำธุระที่ท่านไหว้วานโดยไม่อิดออดบิดพลิ้ว อาสาที่จะช่วยเหลือกิจการงานของท่านโดยไม่ต้องรอให้ท่านร้องขอ เพื่อให้ท่านได้มีโอกาสพักผ่อนเพิ่มขึ้น

ในข้อที่สาม เป็นเรื่องที่ท่านอยากเห็นเราสืบทอดสกุล รักษาเกียรติคุณความดีแห่งวงศ์ตระกูลให้ยั่งยืน ไม่ทำให้เสื่อมเสีย ด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ดำรงชีวิตในทางดีหรือในทางที่ชอบที่ควร ข้อนี้เป็นการตอบแทนคุณโดยกระทำกับตนเอง มิใช่กับท่านโดยตรง

ในข้อที่สี่ พ่อแม่ปรารถนาจะมอบทรัพย์สมบัติที่ท่านเพียรหาและเก็บออมมาด้วยน้ำพักน้ำแรงให้กับเรา เราก็ต้องประพฤติตนให้ดีควรแก่การรับมรดก ไม่ใช่อยู่เพื่อหวังมรดก ไม่เกะกะเหลวไหล ไม่สุรุ่ยสุร่ายผลาญทรัพย์สมบัติที่ท่านมอบให้ ทรัพย์สมบัตินี้ยังหมายรวมถึง ความรู้หรือคำสั่งสอนที่ท่านได้ให้โดยตรง หรือที่ท่านทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ ส่งเสียให้เราได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบ มีงานทำ การใช้ความรู้ไปในทางที่ผิด ให้โทษแก่ผู้อื่น ก็ถือว่าเป็นการผลาญทรัพย์สมบัติที่ท่านให้ไว้เช่นกัน

ในข้อที่ห้า เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้อย่างสม่ำเสมอ แม้ท่านจะเกิดในภูมิที่สูงกว่าหรือไม่สามารถรับกุศลได้ การระลึกและแผ่เมตตาจิตให้แก่พ่อแม่ ก็ถือเป็นมงคลอันประเสริฐกับตนเอง

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่บุตรธิดาทุกท่าน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link

Thursday, August 04, 2011

เลือกกิจกรรม (ที่ใช่) เพื่อสังคม (ที่ชอบ)

การดำเนินกิจกรรม (Activities) ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ในหลายกรณี มิได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่องค์กรธุรกิจกำหนดไว้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก กิจกรรมเหล่านั้นมีมาก่อนที่องค์กรนั้นๆ จะได้ริเริ่มจัดทำนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคม และอีกกรณีหนึ่ง เป็นการดำเนินกิจกรรม CSR ที่มีความซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานในองค์กร ทำให้เกิดโอกาสที่กิจกรรม CSR จำนวนหลายกิจกรรม ถูกดำเนินไปเพียงเพื่อตอบสนองในวัตถุประสงค์ข้อเดียวกัน ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรม CSR ขององค์กรไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

เพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพในการดำเนินกิจกรรม CSR องค์กรควรเฟ้นหาหรือยกระดับกิจกรรมที่ดำเนินอยู่เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ได้ในหลายๆ ข้อ และพิจารณายุบหรือควบรวมกิจกรรม CSR ที่มีความซ้ำซ้อนกัน เพื่อมิให้จำนวนกิจกรรม CSR ที่ตอบสนองเพียงวัตถุประสงค์ในข้อใดข้อหนึ่งมีปริมาณมากเกิน จนกลายเป็นภาระหรือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารดูแล และกลายเป็นว่า แทนที่จะใช้งบประมาณหรือทรัพยากรไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรม CSR แก่กลุ่มเป้าหมาย กลับต้องมาใช้เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หรือค่าบริหารจัดการสำหรับผู้ดำเนินงานเป็นหลัก

ในหลายกิจกรรมที่เป็นงานในกระบวนการธุรกิจ หรือที่เข้าข่าย CSR-in-process องค์กรสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวผ่านทางสายงานที่รับผิดชอบ ภายใต้โครงสร้างหรือผังองค์กรที่เป็นปัจจุบันโดยปราศจากการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม หรือพูดอย่างง่ายคือ เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เงิน แต่เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่สะท้อนให้เห็นการคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสังคมอย่างครบถ้วนรอบด้านยิ่งขึ้น

ขณะที่ในบางกิจกรรม ซึ่งอยู่นอกกระบวนการธุรกิจ หรือที่เข้าข่าย CSR-after-process องค์กรอาจต้องตั้งเป็นโครงการเฉพาะกิจ อาจต้องดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่น หรืออาจต้องมอบหมายให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการให้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินงาน การขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว องค์กรควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของพนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เริ่มดำเนินงาน เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในกิจกรรม

นอกจากนี้ องค์กรพึงตรวจสอบความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์กับกิจกรรม CSR ที่ดำเนินการอยู่ หรือที่กำลังจะดำเนินการ ว่ามีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรม CSR อย่างไม่คุ้มค่า และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้

ในทางปฏิบัติ องค์กรอาจมีการปรับปรุงวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรรวมถึงเป้าประสงค์และนโยบายการดำเนินงาน CSR ขององค์กร ตลอดจนกระทบสู่วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ CSR ดังนั้นการปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดการดำเนินงาน และการทบทวนกิจกรรม CSR จึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องต้องกันและอย่างทันท่วงที

ประเด็นที่พบเห็นได้ส่วนใหญ่ ในกรณีที่องค์กรได้มีการปรับเปลี่ยนเป้าประสงค์ นโยบาย และวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ CSR ไประยะหนึ่งแล้ว แต่สายงานก็ยังคงดำเนินกิจกรรม CSR เดิม ตามวัตถุประสงค์เก่า ทำให้การขับเคลื่อน CSR ไม่ตอบโจทย์ขององค์กรตามที่ควรจะเป็น คำถามที่เกิดขึ้นตามมาสำหรับเจ้าของกิจการหรือผู้ประเมินก็คือ กิจกรรม CSR ที่ดำเนินการอยู่นี้ ใช่สิ่งที่องค์กรควรทำหรือไม่ หรือเหมาะสมดีแล้วหรือไม่ หรือก่อให้เกิดคุณค่าจริงหรือไม่

เพียงเท่านี้ ท่านก็จะได้แนวการดำเนินกิจกรรม CSR ที่ตรงกับเจตนารมณ์ขององค์กร และสร้างคุณค่าให้แก่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]