Thursday, April 28, 2011

CSR ในประโยคบอกเล่า

วันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเรื่อง CSR หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ และจะอินเทรนด์ยิ่งขึ้น ถ้ารู้จักเรื่อง Sustainability หรือ ความยั่งยืน สองเรื่องนี้มักจะถูกหยิบยกมาพูดพร้อมๆกัน ในบริบทที่ใกล้เคียงกัน เมื่อมีการพูดถึงองค์กรที่ประพฤติตัวดีหรือเป็นที่ยอมรับของสังคม

เวลาที่เราได้ยินว่า องค์กรนั้นองค์กรนี้มี CSR Strategy ที่โดดเด่น ก็มีองค์กรแบบข้ามาทีหลังต้องดังกว่าบอกว่า กลยุทธ์ที่เค้าใช้นั้นมัน beyond CSR ไปแล้ว ของเค้านั้นไปถึง Sustainability Strategy เรียบร้อยแล้ว โอ้แม่เจ้า หลายคนจึงสงสัยอยู่ลึกๆ ว่า แล้วเจ้า CSR กับ Sustainability มันต่างกันหรือไม่ และต่างกันอย่างไร

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ทั้ง CSR และ Sustainability นั้น ภาษาไทยแปลนำหน้าด้วยคำว่า “ความ” (รับผิดชอบต่อสังคม) และ “ความ” (ยั่งยืน) ไม่ใช่ การรับผิดชอบต่อสังคม หรือ การยั่งยืน จึงต้องจัดว่าเป็น “สภาพ” ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ดำเนินไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมหรือด้วยความยั่งยืน ไม่ใช่ สิ่ง (object) หรือเรื่อง (subject) ที่จะดำเนินไปเองได้

ในที่นี้ จะถือโอกาสอธิบายความต่างของ CSR กับ Sustainability อย่างง่ายๆ โดยใช้การเทียบเคียงรูปประโยคในภาษาอังกฤษเป็นตัวดำเนินเรื่องละกันนะครับ

ในประโยคบอกเล่า ที่มี ประธาน (subject) กริยา (verb) กรรม (object) ยังมีคำขยายสองชนิดที่ใช้บ่อยก็คือ คำคุณศัพท์ (adjective) กับคำกริยาวิเศษณ์ (adverb) ครั้นจะทำความเข้าใจสองคำขยายนี้ ตามที่แปลเป็นภาษาไทยคงมึนตึ๊บแน่

Ad ที่เติมหน้า -jective กับ -verb แปลว่า ขยาย หรือ ชี้สภาพของสิ่งนั้น adjective จึงเป็นคำขยายนาม คือ เป็นเครื่องชี้สภาพของสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้น ส่วน adverb คือ คำขยายกริยา จึงใช้เป็นเครื่องชี้สภาพของการกระทำ (โดยประธาน) หรือ การถูกกระทำ (ของกรรม) ในประโยค

เมื่อเราไม่ได้จัดว่า CSR และ Sustainability เป็นประธานหรือกรรมของประโยค แต่เป็นสภาพของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น CSR กับ Sustainability จึงน่าจะเทียบเคียงได้กับ adjective หรือ adverb ในประโยคบอกเล่า ปัญหามีต่อไปว่า แล้ว CSR ควรเป็น adjective หรือ adverb กันล่ะ

หากพิจารณาน้ำหนักของคำที่ CSR จะต้องไปขยายระหว่าง ผู้ทำ (หรือสิ่งที่ถูกกระทำ) กับ การกระทำแล้ว ก็น่าจะเห็นพ้องได้ว่า CSR ควรเป็นคำขยายกริยา หรือ adverb ที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำหรือการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคม มากกว่าที่จะไปขยายตัวองค์กรหรือสิ่งที่องค์กรทำโดยตรง

ตัวอย่างเช่น องค์กรไม่ได้ต้องการผลิตสินค้าให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ต้องการที่จะผลิต (สินค้า) อย่างรับผิดชอบ เพื่อให้ได้สินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับจากสังคม และส่งผลให้องค์กรได้รับการยอมรับจากสังคมตามไปด้วย

ขณะที่คำว่า Sustainability ควรเป็นคำขยายนาม หรือ adjective ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ทำหรือสิ่งที่ถูกกระทำมีความยั่งยืนจากผลแห่งการกระทำหรือการดำเนินงานนั้นมากน้อยเพียงใด มากกว่าที่จะไปขยายอากัปกิริยาหรือการกระทำนั้นโดยตรง

ตัวอย่างเช่น องค์กรไม่ได้ต้องการดูแลรักษาอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องการที่จะดูแลรักษา (สิ่งแวดล้อม) อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนทำให้สิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน หรือเกิดเป็นอานิสงส์ให้องค์กรมีความยั่งยืนไปด้วย

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว CSR จึงเป็นเสมือนกลไกหรือเครื่องมือ (mean) ในการดำเนินการที่จะนำพาองค์กร (ในฐานะผู้ดำเนินการ) และสังคม (ในฐานะเป้าหมายของการดำเนินการ) ไปสู่จุดหมาย (end) แห่งความยั่งยืนจากการดำเนินการนั้นๆ

เราไม่สามารถบรรลุจุดหมาย โดยปราศจากการคำนึงถึงวิธีการที่ใช้ฉันใด องค์กรก็ไม่สามารถได้ความยั่งยืนมาโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคมฉันนั้น ฉะนั้น หากองค์กรมัวแต่คิดเรื่องกลยุทธ์ความยั่งยืน โดยไม่ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นพื้นฐานแล้ว ก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จ เพราะการได้มาซึ่ง Sustainability ยังไงก็ข้ามเรื่อง CSR ไปไม่ได้

การอธิบายเทียบเคียงข้างต้นนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า CSR กับ Sustainability มีบทบาทที่แตกต่างกัน ตามหน้าที่ของคำในประโยค มิได้หมายความว่า CSR เป็น adverb และ Sustainability เป็น adjective จริงๆ ตามหลักไวยากรณ์ในภาษาอังกฤษ (ในความเป็นจริง adverb นอกจากขยายคำกริยาแล้ว ก็ยังทำหน้าที่ขยายคำคุณศัพท์หรือขยายคำกริยาวิเศษณ์เองด้วย)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]


ในช่วงเดือนเมษายนนี้ สถาบันไทยพัฒน์และเครือเนชั่นได้จัดสัปดาห์กิจกรรม 7 อุปนิสัยสร้างโลกเขียว บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค (http://on.fb.me/green_ocean) และทวิตเตอร์ (http://twitter.com/green_ocean) ชวนผู้สนใจร่วมกิจกรรม กรีน โอเชี่ยน สัปดาห์ที่ 8 : Activities ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อโลกของเรา ร่วมตอบ 15 คำถาม 5 วันต่อเนื่อง ชิงรางวัลบัตร BTS มูลค่า 500 บาท เสื้อโปโล CSR มูลค่า 350 บาท และ Central Gift Voucher มูลค่า 200 บาท (เริ่มวันจันทร์ที่ 25 - ศุกร์ที่ 29 เม.ย.54)

Thursday, April 21, 2011

ก่อนจะมีหน่วยงาน CSR

คำถามหนึ่งที่ผมได้รับการถามอยู่เป็นประจำ คือ ในองค์กรควรจะมีการตั้งหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบเรื่อง CSR ขึ้นมาโดยตรงหรือไม่ เนื่องด้วยความไม่แน่ใจว่า หากตั้งขึ้นมาแล้ว จะดีกว่าที่ไม่มีหรือไม่ หรือจะทำให้กลายเป็นภาระส่วนเพิ่มขององค์กรต่อไปหรือไม่

ในหลายกิจกรรมที่เป็นงานในกระบวนการธุรกิจ หรือที่เข้าข่าย CSR-in-process องค์กรสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวผ่านทางสายงานที่รับผิดชอบ ภายใต้โครงสร้างหรือผังองค์กรที่เป็นปัจจุบันโดยปราศจากการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม หรือพูดอย่างง่ายคือ เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เงิน แต่เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่สะท้อนให้เห็นการคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสังคมอย่างครบถ้วนรอบด้านยิ่งขึ้น

ขณะที่ในบางกิจกรรม ซึ่งอยู่นอกกระบวนการธุรกิจ หรือที่เข้าข่าย CSR-after-process องค์กรอาจต้องตั้งเป็นโครงการเฉพาะกิจ อาจต้องดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่น หรืออาจต้องมอบหมายให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการให้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินงาน การขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว องค์กรควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของพนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เริ่มดำเนินงาน เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในกิจกรรม

การที่บางกิจการได้มีการจัดตั้งหน่วยงาน CSR ขึ้นในองค์กร ถือเป็นการยกระดับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการให้มีเจ้าภาพรองรับที่ชัดเจนมากกว่าการตั้งเป็นคณะทำงาน อย่างไรก็ดี หน่วยงาน CSR ที่ตั้งขึ้นมานี้ ผู้รับผิดชอบต้องเข้าใจบทบาทและสามารถสื่อสารให้แก่พนักงานในองค์กรเพื่อมิให้พนักงานเกิดความเข้าใจว่า นับจากนี้ “CSR เป็นเรื่องของฝ่าย CSR มิใช่เรื่องของฉันอีกต่อไป” มิฉะนั้นแล้ว การขับเคลื่อนเรื่อง CSR จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากไม่ได้รับการมีส่วนร่วมจากพนักงานอย่างเต็มที่

การขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในองค์กร จำเป็นต้องได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกสายงาน และต้องมีการดำเนินงานที่สอดประสานกัน (Act in Concert) ทั่วทั้งองค์กร เนื่องจาก “CSR เป็นเรื่องของทุกคน มิใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” โดยเฉพาะ CSR-in-process ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของแต่ละสายงาน ก็ยังเป็นเรื่องที่แต่ละสายงานต้องรับผิดชอบและตรวจตราการดำเนินงาน เพื่อมิให้ส่งผลกระทบในเชิงลบสู่สังคมผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ (ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน ฯลฯ) รวมถึงสิ่งแวดล้อมตลอดจนกิจกรรม CSR-after-process ที่มีเป้าประสงค์ในการส่งมอบ ผลกระทบในเชิงบวก ทั้งในมิติของการแก้ไขฟื้นฟู เยียวยา บรรเทาปัญหาและในมิติของการอนุรักษ์ ดูแล พัฒนา ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

บทบาทของหน่วยงาน CSR จึงมีหน้าที่ในการผสานความร่วมมือและอำนวยการให้การขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในแต่ละสายงานเป็นไปโดยราบรื่น การติดตามความคืบหน้าให้เป็นไปตามแผนงาน รวมทั้งการริเริ่มดำเนินงานหรือกิจกรรม CSR ที่ยังไม่มีเจ้าภาพแต่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

ข้อพิจารณาในการจัดให้มีหน่วยงาน CSR ในแต่ละองค์กรนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมขององค์กรในการบริหารการขับเคลื่อนงาน CSR ที่มีอยู่ และระดับของพัฒนาการหรือวุฒิภาวะทาง CSR ซึ่งภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า Maturity ในด้าน CSR ขององค์กรนั่นเอง...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]


ในช่วงเดือนเมษายนนี้ สถาบันไทยพัฒน์และเครือเนชั่นได้จัดสัปดาห์กิจกรรม 7 อุปนิสัยสร้างโลกเขียว บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค (http://on.fb.me/green_ocean) และทวิตเตอร์ (http://twitter.com/green_ocean) ชวนผู้สนใจร่วมกิจกรรม กรีน โอเชี่ยน สัปดาห์ที่ 7 : ร่วมด้วย ช่วยกัน เพื่อโลกสีเขียว ร่วมคิดกิจกรรมที่จะช่วยกันเพื่อโลกสีเขียว ภายใต้หัวข้อ “ถ้าคุณมีเวลาว่าง 1 วัน จะชวนเพื่อนๆ มาร่วมทำกิจกรรมอะไรกันดี เพื่อตอบแทนคืนแก่โลก” กิจกรรมใดที่ได้รับการคลิก Like-ถูกใจ มากที่สุด จะได้รับรางวัลประจำสัปดาห์ อันดับหนึ่ง บัตร BTS มูลค่า 500 บาท อันดับสอง เสื้อโปโล CSR มูลค่า 350 บาท และอันดับสาม หูฟัง Elecom มูลค่า 250 บาท (เริ่มวันจันทร์ที่ 18 - อาทิตย์ที่ 24 เม.ย.54)

Thursday, April 14, 2011

ทำ CSR แบบ SMEs

ที่ผ่านมา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility - CSR) ไล่มาตั้งแต่ตัวเจ้าของกิจการ หรือเถ้าแก่ ลงมาถึงตัวพนักงาน หรือลูกจ้าง อีกหลายแห่งก็ยังไม่รู้และไม่เข้าใจว่า CSR คืออะไร ทำไมต้องทำ CSR ทำ หรือ CSR แล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง

เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ คิดว่า CSR เป็นเรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมในรูปของการบริจาคหรือคืนกำไรให้สังคม ฉะนั้น เมื่อกิจการตนเองยังไม่ค่อยมีกำไร ไม่ค่อยมีเวลา จึงไม่สนใจทำ CSR และคิดไปว่า CSR เป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ที่มีกำไรเยอะๆ แล้ว

ทว่า CSR คือ การบริจาคหรือการอาสาตอบแทนสังคมในเรื่องต่างๆ นั้น ก็ถูกต้อง แต่ถูกเพียงเสี้ยวเดียว อันที่จริงแล้ว นิยามที่เข้าใจได้ง่ายๆ สำหรับเอสเอ็มอี ก็คือ การทำมาค้าขายหรือทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ เช่น ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ไม่เอาเปรียบลูกจ้าง ตรงไปตรงมากับคู่ค้า ไม่ปล่อยน้ำเสียของเสียกระทบเพื่อนบ้าน ฯลฯ CSR แบบนี้ หลายเรื่องไม่เกี่ยวกับการใช้เงินแม้แต่บาทเดียว

การดูแลลูกค้าให้ได้รับบริการที่ดี รับผิดชอบต่อพันธสัญญาที่ให้ไว้ คอยแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ หรือกรณีที่มีปัญหาหรือข้อบกพร่องก็รีบขวนขวายเป็นธุระจัดการแก้ไขให้ เหล่านี้คือ CSR ที่กิจการสามารถทำกับกลุ่มลูกค้า (คิดเสียว่าเป็นลูก....ที่เราค้าขายด้วย) ในเมื่อกิจการทำแล้ว ลูกค้าได้รับความพึงพอใจ ผลดีที่สะท้อนกลับมายังองค์กร คือ ลูกค้าก็ยินดีที่จะควักเงินในกระเป๋าอุดหนุนกิจการของเราเรื่อยไป

ส่วนการดูแลลูกจ้าง (ให้คิดเสมือนว่าเป็นลูก...ที่เราจ้างมาทำงาน) อาทิ การจ่ายเงินเดือนให้ตรงเวลา การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การหมั่นไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบของผู้ใต้บังคับบัญชา การพัฒนาและฝึกอบรมให้มีทักษะความก้าวหน้าในงานที่ทำ เหล่านี้คือ ตัวอย่าง CSR กับกลุ่มพนักงานหรือลูกจ้าง เมื่อเขาเหล่านั้นมีความสุขในงานที่ทำ ผลิตภาพ (Productivity) หรือเนื้องานก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญ หรือเอาเงินเป็นสิ่งจูงใจอยู่ตลอดเวลา

สำหรับการค้าๆ ขายๆ กับคู่ค้า (หรือมองว่าเป็นคู่...ซึ่งเราค้าขายด้วย ที่แม้ยิ่งคบกันนาน ก็คงไม่เบือนหน้าหนียิ่งไปกว่าเดิม) ที่พอจะหยิบยกมาเป็นประเด็นทาง CSR ก็ได้แก่ การหลีกเลี่ยงไม่ข้องเกี่ยวกับสินบนหรือการทุจริตคอร์รัปชัน การไม่ซูเอี๋ยเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเครือญาติ การเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น (เช่น ลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา) หรือการที่กิจการของเราทำ CSR ให้เป็นแบบอย่างกับองค์กรอื่นๆ

ส่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้เอสเอ็มอีของเรา จะไม่จำเป็นต้องไปทำกิจกรรมปลูกป่า สร้างฝายเหมือนกับองค์กรขนาดใหญ่ แต่วิกฤตน้ำท่วมในปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงภัยธรรมชาติซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยน้ำมือมนุษย์ที่ละเลยเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องผังเมือง เรื่องการบริหารจัดการน้ำ กิจการเอสเอ็มอีสามารถทำ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างง่ายๆ โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เช่น การประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่าและอย่างยั่งยืน การป้องกันและบำบัดมลพิษก่อนปล่อยออกจากสถานประกอบการ รวมทั้งการร่วมรณรงค์ในมาตรการที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหมู่เอสเอ็มอีด้วยกันหรือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

CSR ในมิติของเอสเอ็มอีนี้ มุ่งหมายถึง การดำเนินธุรกิจแสวงหากำไรอย่างรับผิดชอบ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณหรือเงินเป็นตัวตั้ง การพิจารณา CSR ในมิตินี้ จึงเกี่ยวข้องกับการปลูกฝังให้ทุกคนในทุกส่วนงาน ทุกแผนก ทุกฝ่ายขององค์กร ตั้งแต่ระดับเถ้าแก่ ผู้บริหาร จนถึงพนักงาน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และได้มีส่วนร่วมในการทำ CSR ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงาน การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเคารพในสิทธิส่วนบุคคล และทำงานในหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ผลที่ได้จากการทำ CSR ที่นอกจากการเป็นองค์กรที่ประสบผลสำเร็จในด้านการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือ ความไว้วางใจ และเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ การทำ CSR จึงมิได้ทำให้กิจการต้องเสียกำไร ตรงกันข้ามกลับจะไปเสริมสร้างผลกำไรให้มีความเข้มแข็ง จากการที่ไม่ไปสร้างปัญหาหรือความขัดแย้งกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งผมจะนิยามธุรกิจที่ทำ CSR ว่าเป็นองค์กรที่สามารถทั้ง Maximize Profit และ Minimize Conflict ไปพร้อมๆ กันในตัว...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, April 07, 2011

7 วิชามาร (ฟอก) เขียว

หนึ่งในทิศทางและแนวโน้มเรื่อง CSR ที่สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการวิเคราะห์และประมวลไว้ในรายงาน 6 ทิศทาง CSR ปี 2554 ท่ามกลางการเติบโตของกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม คือ ธุรกิจที่ไม่เขียว แต่ก็ไม่อยากตกเทรนด์ จะใช้วิธีการฟอกเขียว (Green Washing) เพื่อทำให้ผู้บริโภคหรือสังคมเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ของตนหรือกระบวนการธุรกิจของตนมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการตลาดหรือการขาย

ในเมืองนอก มีผู้เรียบเรียง 7 บาปแห่งการฟอกเขียว ประกอบด้วย sin of the hidden trade-off, sin of no proof, sin of vagueness, sin of worshipping false labels, sin of irrelevance, sin of lesser of two evils, sin of fibbing (ดูเพิ่มเติมที่ http://bit.ly/the7sins) ซึ่งเป็นฉบับตะวันตกหรือเวอร์ชั่นฝรั่งเพื่อให้อินเทรนด์ (ฟอก) เขียวในกระแสโลก ผมได้เรียบเรียงวิธีการฟอกเขียวของธุรกิจในแบบไทยๆ ที่ไม่ได้แปลจากต้นฉบับเมืองนอก แต่เป็นฉบับตะวันออกหรือเวอร์ชั่นไทย ประกอบด้วย 7 วิธีมาร ดังนี้

1. แบบโป้ปดมดเท็จ เป็นการปฏิเสธความจริงที่ปรากฏ หรือสื่อสารไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เช่น การติดฉลากรับรองคุณภาพทั้งที่มิได้มีคุณภาพตามสมอ้างหรือโดยปราศจากการตรวจสอบรับรองใดๆ การอ้างกฎหมายเพื่อปฏิเสธความรับผิดเนื่องจากขาดหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ ทั้งที่มีมูลเหตุมาจากองค์กร หรือการยกเมฆตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2. แบบพูดอย่างทำอย่าง เป็นการให้คำมั่นสัญญาที่มิได้มีเจตนาจะดำเนินการจริง เช่น การลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือให้สัตยาบัน หรือร่วมประกาศปฏิญญา แต่ไม่มีการดำเนินงานตามที่กล่าวไว้ เข้าในลักษณะวจีบรม (Lip Service)

3. แบบเจ้าเล่ห์เพทุบาย เป็นการอวดอ้างประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลการดำเนินงานด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มิได้มีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างจริง เช่น การเลือกตัวชี้วัดที่อ่อนกว่าเกณฑ์ การใช้วิธีกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุต่ำเกินจริง การเลือกบันทึกข้อมูลเฉพาะครั้งที่ได้ค่าตามต้องการ

4. แบบมารยาสาไถย เป็นการเจตนาลวงให้เข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมได้ตามมาตรฐานหรือดีกว่าองค์กรอื่นๆ เช่น ประกาศว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดที่อ้างอิงจาก ISO 26000 ทั้งที่มาตรฐานดังกล่าว มิใช่มาตรฐานสำหรับนำไปใช้หรือนำมาพัฒนาเป็นข้อกำหนดอ้างอิงเพื่อการรับรอง หรือการได้รับรางวัลจากเวทีหรือหน่วยงานที่ตนเองเป็นผู้ให้การสนับสนุนหรือชี้นำ

5. แบบเล่นสำนวนโวหาร เป็นความตั้งใจที่จะสื่อสารอย่างคลุมเครือ เพื่อให้เข้าใจไขว้เขวไปตามจุดมุ่งหมาย หรือทำให้หลงประเด็น เช่น ผลิตภัณฑ์นี้ประกอบด้วยสารจากธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งในความเป็นจริง สารมีพิษ อาทิ สารหนู สารปรอท สารกันเสียฟอร์มาลดีไฮด์ (ที่มักใช้ผสมในเครื่องสำอาง แชมพู น้ำยาเคลือบเล็บ น้ำยาบ้วนปาก ยาระงับกลิ่นผ้า) ก็เป็นสารที่พบได้ตามธรรมชาติทั้งสิ้น

6. แบบต่อเติมเสริมแต่ง เป็นการขยายความหรืออวดอ้างสรรพคุณเกินจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่เพียงบางส่วน เพื่อให้เข้าใจว่ากระบวนการผลิตในธุรกิจหรือตัวผลิตภัณฑ์มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูง หรือมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มบำรุงสมอง เครื่องดื่มลดความอ้วน ที่อ้างส่วนประกอบของสารอาหารซึ่งสามารถได้รับจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไปในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน

7. แบบปิดบังอำพราง เป็นการปกปิดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือแสดงความจริงเพียงส่วนเดียว เพื่อจุดมุ่งหมายในการปกป้องผลประโยชน์หรือเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กร เช่น องค์กรแสดงให้เห็นถึงการลงทุนในเทคโนโลยีระบบบำบัดของเสียที่เหนือกว่ามาตรฐาน แต่กลับมิได้บำบัดให้ได้ดีกว่าดังที่ประกาศ หรือการบิดเบือนข้อมูลในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ปรากฏเฉพาะส่วนที่ส่งผลบวกต่อองค์กร...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]


ในช่วงเดือนเมษายนนี้ สถาบันไทยพัฒน์และเครือเนชั่นได้จัดสัปดาห์กิจกรรม 7 อุปนิสัยสร้างโลกเขียว บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค (http://on.fb.me/green_ocean) และทวิตเตอร์ (http://twitter.com/green_ocean) ชวนผู้สนใจร่วมกิจกรรม กรีน โอเชี่ยน สัปดาห์ที่ 6 : ลด ละ เลิก = รักษ์โลก สร้างอุปนิสัยของการ Refuse = ปฏิเสธสินค้าฟุ่มเฟือย ปฏิเสธความอยากได้ตามกระแส ร่วมตอบคำถาม 5 วันต่อเนื่อง ท่านใดที่ตอบคำถามได้รวดเร็ว และถูกต้องมากที่สุด จะได้รับรางวัลประจำสัปดาห์ อันดับหนึ่ง บัตรของขวัญจาก Big C มูลค่า 500 บาท อันดับสอง กล้องโลโม่ 3 ตา มูลค่า 450 บาท และอันดับสาม เสื้อโปโล CSR มูลค่า 350 บาท (เริ่มวันจันทร์ที่ 4 - ศุกร์ที่ 8 เม.ย.54)