Thursday, March 31, 2011

7 อุปนิสัย สร้างโลกเขียว

ในกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว หรือ Green Ocean Strategy จำแนกองค์ประกอบของกลยุทธ์ออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ เรื่องของ “ระบบ” ที่กำกับดูแลด้วยธรรมาภิบาลสีเขียว (Green Governance) และเรื่องของ “คน” ที่ปลูกสร้างด้วยอุปนิสัยสีเขียว (Green Habits)

อุปนิสัยสีเขียวจะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะวิกฤตภาวะโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ เห็นได้จากพิบัติภัยแผ่นดินไหว สึนามิที่ญี่ปุ่น สร้างให้เกิดวิกฤตนิวเคลียร์และการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี หรือสถานการณ์ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันใน 5 จังหวัดภาคใต้ ที่ก่อให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม การจราจรถูกตัดขาด หรือแม้กระทั่งความกดอากาศสูงที่แผ่จากประเทศจีน จนทำให้เกิดอากาศหนาวในฤดูร้อนเป็นช่วงๆ

ความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มิให้เป็นภัยอันตรายต่อคนรุ่นเรา รวมทั้งต้องพิทักษ์ระบบนิเวศให้ยืนยาวสืบต่อไปยังคนรุ่นหลัง ด้วยอุปนิสัยสีเขียวภายใต้กลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว ประกอบด้วย 7 อุปนิสัย ได้แก่

Rethink ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเรามีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง กระแสการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะไม่เกิดผลสำเร็จใดๆ หากผู้รับฟังข้อมูลไม่ตระหนักว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลง การรอคอยให้ผู้อื่นทำไปก่อน แล้วค่อยคิดจะทำนั้น จะทำให้ท่านได้รับการดูแลจากธรรมชาติเป็นคนท้ายๆ

Reduce โลกร้อน เมื่อเราเผาผลาญทรัพยากรเกินขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะหมุนเวียนได้ทัน โลกบูด เพราะเราบริโภคเกินจนเกิดขยะและของเสียที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ทัน ช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และช่วยกันลดการบริโภคเพื่อไม่ให้เกิดขยะและของเสียอย่างที่เป็นอยู่

Reuse สำรวจของที่ซื้อมาแล้วเพิ่งใช้เพียงหนเดียวว่า สามารถใช้ประโยชน์ซ้ำได้หรือไม่ หาวิธีการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ หรือหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง การซื้อของมีคุณภาพที่ราคาสูงกว่า แต่ใช้งานได้ทนนาน จะดีกว่าซื้อของที่ด้อยคุณภาพในราคาถูก แต่ใช้งานได้เพียงไม่กี่ครั้ง

Recycle เป็นการนำวัสดุที่หมดสภาพหรือที่ใช้แล้วมาปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ เริ่มลงมือปรับแต่งของใช้แล้วในบ้านให้เกิดประโยชน์ใหม่ ช่วยกันคัดแยกขยะหรือวัสดุเหลือใช้ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เองมอบให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดีกว่าทิ้งหรือเก็บไว้เฉยๆ โดยเปล่าประโยชน์

Recondition ของหลายอย่างสามารถปรับแต่งซ่อมแซมแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดังเดิม พยายามใช้ของให้ถูกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการชำรุดเสียหายก่อนเวลาอันควร และหมั่นตรวจสอบและปฏิบัติตามตารางการบำรุงรักษา เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น

Refuse การปฏิเสธเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ให้ถูกนำมาใช้หรือถูกทำลายเร็วขึ้น และเพื่อให้เวลาธรรมชาติในการฟื้นสภาพตัวเองตามระบบนิเวศ เริ่มจากสิ่งนอกตัว เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย สิ่งที่เราต้องเติมใส่ร่างกาย เช่น อาหารนำเข้า จนถึงสิ่งที่อยู่ข้างในกาย คือ จิตใจ เพราะเมื่อจิตร้อน กายก็ร้อน สิ่งรอบข้างก็ได้รับกระแสร้อน สุดท้ายทั้งโลกก็ร้อนขึ้น

Return หน้าที่หนึ่งของมนุษย์ คือ การตอบแทนคืนแก่โลก ใครใช้ทรัพยากรใดจากธรรมชาติเยอะ ก็ต้องคืนทรัพยากรนั้นกลับให้มากๆ พยายามอย่าติดหนี้โลก เพราะวันหนึ่งโลกจะมาทวงหนี้จากท่าน ตราบที่ท่านยังต้องเวียนว่ายตายเกิดบนโลกใบนี้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]


ในช่วงเดือนเมษายนนี้ สถาบันไทยพัฒน์และเครือเนชั่นได้จัดสัปดาห์กิจกรรม 7 อุปนิสัยสร้างโลกเขียว บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค (http://on.fb.me/green_ocean) และทวิตเตอร์ (http://twitter.com/green_ocean) ชวนผู้สนใจร่วมเสนอเคล็ดไม่ลับในการซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้แบบง่ายๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ภายใต้แคมเปญ: Recondition ซ่อมแซม เพื่อซ่อมโลก เคล็ดไม่ลับใดที่ได้รับการคลิก Like-ถูกใจ อันดับหนึ่งจะได้รับ Central Gift Voucher มูลค่า 500 บาท อันดับสอง ลำโพงพกพา มูลค่า 350 บาท และอันดับสาม เสื้อโปโล CSR มูลค่า 350 บาท (วันนี้ - 3 เม.ย. 54 ประกาศผลวันที่ 4 เม.ย.)

Thursday, March 24, 2011

มีจุดยืน (กลยุทธ์ CSR) เพื่อให้ยั่งยืน

เรื่อง CSR หรือบรรษัทบริบาล ได้กลายเป็นประเด็นที่หน่วยงานในทุกภาคส่วนให้ความสนใจ และได้มีการนำมาบรรจุไว้เป็นพันธกิจที่องค์กรต้องปฏิบัติโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการดำเนินงานในทางธุรกิจที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียว

การดำเนินงาน CSR ของหลายกิจการ ยังมีลักษณะเชิงกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในแบบแยกส่วน ที่มิได้เชื่อมโยงไปสู่ยุทธศาสตร์การดำเนินงานขององค์กร ทำให้ความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรม CSR ที่มีอยู่ มิได้ตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ระยะยาวของกิจการได้อย่างที่ควรจะเป็น

ประกอบกับการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการดำเนินงาน CSR ที่ขาดการบูรณาการในเชิงนโยบายด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิดข้อคำถามว่า ภารกิจ CSR ขององค์กรนำไปสู่ความยั่งยืนได้จริงหรือไม่ และจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในการขับเคลื่อนงาน CSR ให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร

เพื่อที่จะตอบคำถามข้างต้น องค์กรจำต้องมีการประเมินสถานภาพด้านบรรษัทบริบาลที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ทราบถึงทุนทางสังคมที่องค์กรมีอยู่ (What we have) สามารถใช้เป็นข้อมูลในการระบุถึงวิสัยทัศน์ที่องค์กรต้องการจะเป็นในวันข้างหน้า (What we want to be) ที่จะนำไปสู่การวางนโยบายด้านบรรษัทบริบาลที่เหมาะสม (What we should follow) และการกำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคม (What position we take) ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในระยะยาว

การพิจารณาเพื่อกำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Strategic Positioning on CSR) เป็นสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงทุนทางสังคมที่กิจการสามารถใช้ในการดำเนินงาน CSR อย่างมีอัตลักษณ์ (Identity) มีการพัฒนาวิสัยทัศน์ นโยบาย และจุดยืนทางกลยุทธ์ CSR อย่างมีเอกลักษณ์ (Unique) เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่สังคมและองค์กรได้อย่างยั่งยืน


ขั้นตอนของการค้นหาตำแหน่งหรือจุดยืนทางยุทธศาสตร์ CSR ขององค์กร สามารถแบ่งออกเป็น 4 กิจกรรมหลัก คือ 1) Assessing เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลสถานภาพด้านบรรษัทบริบาลในปัจจุบัน 2) Visioning เป็นการระบุวิสัยทัศน์ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการโดยคำนึงถึงทุนทางสังคมที่องค์กรมีอยู่ 3) Defining (Policies) เป็นการวางนโยบายด้าน CSR ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม และ 4) (Strategic) Positioning เป็นการกำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคมที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ สำหรับใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน CSR ของกิจการ

ตำแหน่งหรือจุดยืนทางยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้ สามารถใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านบรรษัทบริบาลให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันอย่างมีกลยุทธ์ และเป็นข้อมูลในการจัดทำยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการให้มีความเป็นเอกภาพ รวมทั้งสามารถใช้สื่อสารเพื่อสร้างให้เกิดการรับรู้ทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]


ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ สถาบันไทยพัฒน์และเครือเนชั่นได้จัดสัปดาห์กิจกรรม 7 อุปนิสัยสร้างโลกเขียว บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค (http://on.fb.me/green_ocean) และทวิตเตอร์ (http://twitter.com/green_ocean) ชวนผู้สนใจเข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ (ได้ทั้งที่ทำเอง และซื้อมา) การ Recycle สิ่งประดิษฐ์เก๋ๆ จากวัสดุเหลือใช้ โดยโพสต์ภาพสิ่งประดิษฐ์ผ่านหน้าเฟซบุ๊ค Green Ocean Society แบ่งปันลิงค์ชวนเพื่อนๆ ร่วมโหวต สิ่งประดิษฐ์ใดที่ได้รับการคลิก Like-ถูกใจ อันดับหนึ่งจะได้รับ Central Gift Voucher มูลค่า 500 บาท อันดับสอง เสื้อโปโล CSR มูลค่า 350 บาท และอันดับสาม หูฟัง Elecom มูลค่า 250 บาท (วันนี้ - 27 มี.ค.54 นับคะแนนโหวต ถึงวันที่ 28 ก่อนเที่ยง)

Thursday, March 10, 2011

รู้ทันผลิตภัณฑ์ (ฟอก) เขียว

จากการเติบโตของธุรกิจสีเขียว ทั้งทางด้านพลังงานทางเลือก ผลิตภัณฑ์และบริการเชิงสุขภาพ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ได้กลายเป็นตัวแปรที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด ที่ต้องมีส่วนประสมของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรื่องหลักของ CSR ด้วยเช่นกัน

สำหรับธุรกิจที่ต้องการเกาะกระแสสีเขียว แต่ทำไม่ได้จริง หรือมิได้คำนึงถึงการปรับการใช้วัตถุดิบ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและบริการ หรือการดูแลผลิตภัณฑ์และกากของเสียอย่างจริงจัง จะใช้วิธีการฟอกเขียว (Green Washing) เพื่อทำให้ผู้บริโภคหรือสังคมเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ของตนหรือกระบวนการธุรกิจของตน มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการตลาดหรือการขาย แต่มิได้ทำจริง

ในฐานะผู้บริโภคจึงควรตรวจสอบ และศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์และข้อมูลองค์กรอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ อาจมีราคาไม่ถูกไปกว่าผลิตภัณฑ์ในแบบปกติทั่วไป การยอมจ่ายเงินสูงขึ้น แต่กลับได้ผลิตภัณฑ์ย้อม (แมว) สีเขียว จึงเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการบริโภคข่าวสารอย่างระมัดระวังกับธุรกิจฟอกเขียว ที่ใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่ออย่างแยบยล

ในเอกสาร Greenwashing Report 2010 ซึ่งจัดทำโดย TerraChoice Group ได้ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์จำนวน 5,296 ชนิด ที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งมีข้ออ้างความเขียว (Green Claims) นับรวมกันได้ 12,061 ข้อ โดยพบว่าผลิตภัณฑ์กว่าร้อยละ 95 ที่อ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าข่ายใช้วิธีการฟอกเขียวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


ฉะนั้น ผู้บริโภคจะต้องเรียนรู้และรับมือกับธุรกิจ (ฟอก) เขียว ที่ใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อผลิตภัณฑ์และองค์กร ตามกระแสสิ่งแวดล้อมที่เติบโตขึ้น โดยวิธีการฟอกเขียวของธุรกิจ มีตัวอย่างเช่น
การติดฉลากรับรองคุณภาพทั้งที่มิได้มีคุณภาพตามสมอ้างหรือโดยปราศจากการตรวจสอบรับรองใดๆ
การโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ประกอบด้วยสารจากธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งในความเป็นจริง สารมีพิษ อาทิ สารหนู สารปรอท สารกันเสียฟอร์มาลดีไฮด์ (ที่มักใช้ผสมในเครื่องสำอาง แชมพู น้ำยาเคลือบเล็บ น้ำยาบ้วนปาก ยาระงับกลิ่นผ้า) ก็เป็นสารที่พบได้ตามธรรมชาติทั้งสิ้น
การประกาศว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดที่อ้างอิงจาก ISO 26000 ทั้งที่มิใช่มาตรฐานสำหรับนำไปใช้หรือนำมาพัฒนาเป็นข้อกำหนดอ้างอิงเพื่อการรับรอง
การแสดงให้เห็นถึงการลงทุนในเทคโนโลยีระบบบำบัดของเสียที่เหนือกว่ามาตรฐาน แต่กลับมิได้เปิดใช้งาน หรือมิได้บำบัดให้ได้ดีกว่าดังที่ประกาศ
การบิดเบือนข้อมูลในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ปรากฏเฉพาะส่วนที่ส่งผลบวกต่อองค์กร
...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]


ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ สถาบันไทยพัฒน์และเครือเนชั่นได้จัดสัปดาห์ กิจกรรม 7 อุปนิสัยสร้างโลกเขียว บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค (on.fb.me/green_ocean) และทวิตเตอร์ (twitter.com/green_ocean) โดยจะมีของรางวัลประจำทุกสัปดาห์ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปจนถึงเดือนเมษายนนี้ ในสัปดาห์นี้จะเป็นการเปิดรับไอเดีย “REDUCE” เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ให้เขียนเล่าวิธีการช่วยลดโลกร้อนในแบบของคุณ โดยไอเดียใดได้รับการกด like-ถูกใจ มากที่สุด จะได้รับรางวัลประจำสัปดาห์ เป็น Cental Gift Voucher มูลค่า 500 บาท ท่านที่สนใจและมีวิธีการลดการใช้ทรัพยากรแบบเก๋ๆ อย่าพลาดเข้าร่วมกิจกรรมกันนะครับ

Thursday, March 03, 2011

เดือนที่ต้องส่งรายงานการจัดการพลังงาน

ในปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าทุกวงการได้นำ Green Concept มาใช้พัฒนากระบวนการดำเนินงานในกิจการให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันอย่างถ้วนหน้า คำประกาศของภาคธุรกิจที่มีต่อบทบาทการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) การพัฒนาผู้ค้าสีเขียว (Green Dealer) การคิดค้นนวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์พลังงาน ที่ส่งเสริมให้เกิดโรงงานสีเขียว (Green Factory) และอาคารสีเขียว (Green Building) ซึ่งได้ทำให้เรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ (action) มิใช่ทางเลือก (option) อีกต่อไป

โดยตามกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 กำหนดให้อาคารสถานศึกษา สำนักงาน โรงมหรสพ ศูนย์การค้า สถานบริการ ห้างสรรพสินค้า อาคารชุมนุมคน โรงแรม สถานพยาบาล และอาคารชุดที่มีขนาดพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2552 กำหนดให้โรงงานและอาคารที่ติดตั้งเครื่องวัดไฟฟ้า (มิเตอร์) ตัวเดียวหรือหลายตัวรวมกันมีขนาดตั้งแต่ 1,000 กิโลวัตต์ ขึ้นไป หรือติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดตั้งแต่ 1,175 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือมีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า ความร้อนจากไอน้ำหรือพลังงานสิ้นเปลืองอย่างใดอย่างหนึ่งรวมกัน ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่ 20 ล้านเมกะจูลขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานการจัดการพลังงานส่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี (เริ่ม มี.ค. 54)

ขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาวิธีการจัดการพลังงาน

โดยในรายงานดังกล่าว ต้องมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดการพลังงาน 8 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการแต่งตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน ขั้นตอนการประเมินสถานภาพการจัดการพลังงานเบื้องต้น ขั้นตอนการกำหนดนโยบายอนุรักษ์พลังงาน ขั้นตอนการประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน ขั้นตอนการกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานและแผนการฝึกอบรมและกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ขั้นตอนการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานและการตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน ขั้นตอนการตรวจติดตามและประเมินการจัดการพลังงาน และขั้นตอนการทบทวน วิเคราะห์และแก้ไขข้อบกพร่องของการจัดการพลังงาน โดยรายงานการจัดการพลังงานดังกล่าวนั้น จะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองจากผู้ตรวจสอบพลังงาน

ขั้นตอนการจัดการพลังงาน

สำหรับรายชื่อโรงงานและอาคารควบคุมที่จะต้องจัดทำรายงานการจัดการพลังงานเพื่อจัดส่งให้อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานภายในเดือนมีนาคมของทุกปี มีจำนวน 3,728 โรงงาน และ 2,024 อาคาร (ข้อมูล ณ เดือน ม.ค. 54) โดยสามารถดูรายชื่อโรงงานและอาคารควบคุมได้ที่ http://bit.ly/ecp1992...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]