Thursday, February 24, 2011

กิจกรรมเพื่อสังคม... เพื่อองค์กร

เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการและโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากการดำเนินงานทางธุรกิจ ที่มักเรียกกันว่าเป็น CSR-after-process หรือ กิจกรรมเพื่อสังคม มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ การบริจาคเพื่อการกุศล (Corporate Philanthropy) ในรูปของการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของให้แก่สังคมทั้งทางตรงหรือผ่านหน่วยราชการ องค์การสาธารณประโยชน์ต่างๆ (เรียกสั้นๆ ว่าเป็นการ “ลงเงิน”) และการอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering) ด้วยการสนับสนุนหรือจูงใจให้พนักงาน คู่ค้าร่วมสละเวลาและแรงงานอาสาทำงานให้แก่สังคม (เรียกว่าเป็นการ “ลงแรง”)

กิจกรรม CSR ในรูปแบบการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคมที่อยู่ในรายการอันดับต้นๆ ของสังคมไทย คือ การบริจาคเงิน การปลูกป่า การสร้างฝาย และการมอบวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของใช้สอยต่างๆ เช่น ผ้าห่ม ถุงผ้า ถังน้ำ เครื่องเขียน อุปกรณ์กีฬา ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่สามารถสื่อสารให้สังคมเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายกว่าความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการ (CSR-in-process) ธุรกิจจึงมักนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการตลาด และการสร้างตราสินค้า (Brand) มากกว่าที่จะพัฒนา CSR ให้เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานที่นำไปสู่ความยั่งยืน

การขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในปัจจุบัน มิได้ปฏิเสธหรือตั้งข้อรังเกียจในลักษณะที่ห้ามมิให้ประชาสัมพันธ์ หรือนำไปเกี่ยวโยงกับการขายของ เป็นแต่เพียงธุรกิจต้องคำนึงถึงว่ากิจกรรมเพื่อสังคมเหล่านั้น สามารถนำพาไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร

กรณีของการให้หรือการบริจาค ธุรกิจหลายแห่งเข้าใจไปว่า ความยั่งยืนคือการที่องค์กรให้หรือบริจาคเป็นประจำต่อเนื่อง เช่น แจกผ้าห่ม แจกถังน้ำ แจกข้าวทุกปี ความยั่งยืนไม่ได้หมายถึงความต่อเนื่องในการบริจาค แต่ความยั่งยืนพิจารณาที่ตัวชาวบ้านหรือชุมชนที่ได้รับความช่วยเหลือ สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ นำไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพ และก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชาวบ้านและชุมชนในที่สุด ฉะนั้น การให้ที่ก่อให้เกิดผลตรงข้าม โดยทำให้ชาวบ้านบ่มเพาะอุปนิสัยการพึ่งพา ลดทอนศักยภาพตนเอง หรือยิ่งให้ยิ่งอ่อนแอลง ก็ไม่อาจเรียกได้ว่า เป็นการให้ที่ยั่งยืน

แม้แต่เอ็นจีโอที่ได้รับบริจาคทรัพยากรจากภายนอกมาเพื่อพัฒนาสังคมหรือทำหน้าที่แทนภาคธุรกิจในการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านหรือชุมชนกลุ่มเป้าหมาย ก็ต้องเน้นผลลัพธ์ (Outcome) จากการดำเนินงานที่นำไปสู่ความยั่งยืน แทนการเน้นผลผลิต (Output) ที่สนใจเฉพาะในสิ่งที่โครงการจะให้มากกว่าสิ่งที่ชาวบ้านหรือชุมชนจะได้รับ ที่น่าตำหนิยิ่งกว่านั้นคือ การเลี้ยงไข้เพื่อหวังงบประมาณสนับสนุนต่อเนื่องในระยะยาว กลายเป็นการรับจ้างทำกิจกรรมเพื่อสังคม...เพื่อองค์กร ซึ่งไม่อาจเรียกว่าเป็นความยั่งยืนได้อีกเช่นกัน

สำหรับธุรกิจที่พัฒนากิจกรรมเพื่อสังคมที่ได้ประสิทธิภาพ คือ สามารถตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนได้ในระดับหนึ่งแล้ว และอยากจะทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ผมจะได้ประมวลหลักการสื่อสารเรื่อง CSR ที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม...เพื่อองค์กร มาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, February 17, 2011

วัดผลสำเร็จ CSR จริงใจหรือไก่กา

เรื่องการจัดทำรายงาน CSR นั้น มิใช่เรื่องใหม่สำหรับคนทำงานด้าน CSR เนื่องจากในการดำเนินงาน CSR ขององค์กรในแต่ละปี ผู้ที่รับผิดชอบงาน CSR ขององค์กร ต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน CSR ในรอบปี เสนอต่อผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการเป็นการภายใน ผู้ที่จะเห็นรายงานฉบับดังกล่าว จึงอาจจำกัดอยู่แค่ผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร (ผู้ถือหุ้นและเจ้าของกิจการ กับผู้บริหารและพนักงาน) เท่านั้น

เหตุผลหลักของการจัดทำรายงาน CSR ก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นถึง “ผลสำเร็จ” ที่องค์กรได้ใช้ทรัพยากรต่างๆ (ซึ่งย่อมมีต้นทุน ค่าใช้จ่าย และค่าเสียโอกาส) ในการดำเนินงาน CSR ต่อผู้บริหารและเจ้าของกิจการ สำหรับการรับรองหรือการยอมรับ (Recognition) ที่จะจัดสรรทรัพยากรในการขับเคลื่อนงาน CSR ในปีต่อไป

ในทำนองเดียวกัน การจัดทำรายงาน CSR สำหรับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ก็มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับและการรับรองจากสังคมต่อ “ผลสำเร็จ” ในภารกิจ CSR ขององค์กร ทำให้สังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ อนุญาตให้กิจการสามารถดำเนินงาน (License to Operate) ต่อไปโดยไม่มีคำคัดค้านหรือข้อโต้แย้งที่เป็นเหตุให้ธุรกิจต้องชะงักงันหรือสะดุดหยุดลง

การที่ธุรกิจจะได้รับการรับรองหรือการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกนั้น อยู่ที่การตีความหมายของ “ผลสำเร็จ” ในภารกิจ CSR ขององค์กร

บางองค์กรใช้การวัดผลสำเร็จด้วยสัมฤทธิ์ภาพ (Achievement) ของการจัดสรรทรัพยากร (Input) ในโครงการหรือกิจกรรม CSR เช่น เราได้ลงทุนในระบบบำบัดเป็นมูลค่าถึง 500 ล้านบาท หรือบางองค์กรวัดด้วยกระบวนการ (Process) มีส่วนร่วมในกิจกรรม CSR เช่น จำนวนของคนในชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หรือบางองค์กรวัดจากผลผลิต (Output) ของกิจกรรม เช่น ผู้ที่ผ่านการอบรมเป็นอาสาสมัครตรวจวัดคุณภาพน้ำครบ 100% หรือบางองค์กรก็วัดจากผลลัพธ์ (Outcome) ของโครงการ เช่น คุณภาพน้ำในชุมชนรอบโรงงานอยู่ในระดับดี และท้ายที่สุด บางองค์กรเลือกใช้วิธีการวัดผลกระทบ (Impact) ที่คนในชุมชนและโรงงานสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขจากการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร

องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ได้จัดทำแนวทางการรายงานข้อมูลการดำเนินงานของกิจการ ที่เรียกว่า รายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) โดยได้นิยามหลักการและตัวชี้วัดที่องค์กรสามารถใช้วัดและรายงานผลการดำเนินงานทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดหลัก (Core indicators) จำนวน 49 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดเพิ่มเติม (Additional indicators) จำนวน 30 ตัวชี้วัด สำหรับใช้เพื่อการกำหนดเนื้อหาและกำกับข้อมูลที่กิจการจะนำมารายงาน

ทั้งนี้ องค์กรสามารถที่จะพิจารณาใช้กรอบการรายงาน GRI โดยเริ่มจาก 10 ตัวชี้วัดหลัก (Level C) แล้วจึงค่อยขยายขอบเขตการรายงานเพิ่มขึ้นเป็น 20 ตัวชี้วัดหลัก (Level B) จนสามารถรายงานได้ครบทุกตัวชี้วัดหลัก (Level A) ในที่สุด

กระบวนการจัดทำรายงาน CSR ตามแนวทาง GRI นี้ จะเป็นเครื่องมือให้องค์กรสามารถใช้บริหารและวัดผลกระทบ (Manage and Measure Impacts) จากการดำเนินภารกิจ CSR ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถาบันไทยพัฒน์ได้จัดทำเอกสาร "รายงานเพื่อความยั่งยืน : Reporting your CSR" เพื่อเป็นคู่มือเบื้องต้นสำหรับองค์กรในการทำความเข้าใจเรื่องการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามแนวทางของ GRI ที่ชี้ให้เห็นถึงวิธีการวางแผนและนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึงและทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงานที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือกำกับการขับเคลื่อนภารกิจ CSR ขององค์กรตลอดทั้งปี หน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ หรือดาวน์โหลดเอกสารฉบับอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ www.thaicsr.com...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, February 10, 2011

จับทิศทาง CSR ประเทศไทย

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำทุกปีที่สถาบันไทยพัฒน์จะทำการวิเคราะห์และประมวลแนวโน้มเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ในประเทศไทย รายงานให้แก่ผู้ที่สนใจสำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนดำเนินงาน CSR ตอนต้นปี โดยได้ดำเนินการติดต่อกันมาเป็นปีที่ 5 แล้ว และในปี 2554 นี้ ทิศทาง CSR ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ก็มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปีที่ผ่านๆ มา

การดำเนินงาน CSR ของภาคธุรกิจในปีที่ผ่านมา ได้ขยายขอบเขตจากองค์กรของตนเอง มาสู่การชักชวนคู่ค้าและสมาชิกในสายอุปทาน ให้ดำเนินงานร่วมด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดสายกระบวนการ (CSR in Supply Chain) ที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทย

ในปีที่แล้ว กระแส “Green” ได้กลายเป็นประเด็น CSR ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากคำประกาศของภาคธุรกิจ ที่มีต่อบทบาทการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว และกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์พลังงาน ที่ส่งเสริมให้เกิดโรงงานสีเขียว และอาคารสีเขียว ซึ่งได้ทำให้เรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ (Action) มิใช่ทางเลือก (Option) อีกต่อไป

การประกาศใช้มาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000:2010 ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 หลังจากการริเริ่มจุดประกายกระบวนการจัดทำร่างนี้นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 หรือเป็นระยะเวลาร่วม 10 ปี เป็นที่น่าจับตาว่า ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะขานรับมาตรฐานดังกล่าวนี้มากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุที่มาตรฐานดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้หรือนำมาพัฒนาเป็นข้อกำหนดอ้างอิงเพื่อการรับรองได้เช่นเดียวกับ ISO 9000 ที่ใช้และมีการรับรองกันอยู่อย่างแพร่หลาย

แนวโน้มที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ การจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report) ที่จะกลายมาเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจในการสื่อสารกับภาคสังคมและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ของกิจการ ที่ซึ่งการประชาสัมพันธ์ CSR ไม่สามารถสร้างคุณค่าและความสัมพันธ์ได้เหมือนดังเดิม และนับเป็นครั้งแรกที่องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ได้เข้ามาจัดเวิร์คชอปแนะนำการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report อย่างเป็นทางการในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553

จุดมุ่งหมายหลักของการเปิดเผยรายงาน CSR ก็เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับและการรับรองจากสังคมต่อ “ผลสำเร็จ” ในภารกิจ CSR ขององค์กร โดยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่เกื้อหนุนให้การรายงานเป็นที่ยอมรับ ได้แก่ บูรณภาพ (Inclusivity) ของการคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องและความครอบคลุมของภารกิจ CSR ในเรื่องหลักและประเด็นสำคัญได้อย่างครบถ้วน สารัตถภาพ (Materiality) ของตัวบ่งชี้สัมฤทธิภาพในกิจกรรม CSR ที่มีนัยสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับองค์กรจริงๆ และทีฆภาพ (Sustainability) ของกิจกรรม CSR ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปีนี้ การรายงาน CSR ขององค์กรจะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) กำลังดำเนินการจัดทำแนวทางการรายงานข้อมูลการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่คาดว่าจะมีการประกาศในปี 2554 นี้

ธุรกิจที่มีการดำเนินงาน CSR อยู่ในกระบวนการ แต่ยังมิได้มีการเปิดเผยรายงานต่อสังคมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จึงควรต้องเริ่มสำรวจและเก็บบันทึกข้อมูล วางแผนการเปิดเผยข้อมูล ปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย คัดเลือกข้อมูลที่จะรายงานต่อผู้มีส่วนได้เสียในช่องทางที่เหมาะสม พร้อมรับต่อแนวโน้มของการรายงานด้าน CSR ที่เกิดขึ้น

สำหรับรายละเอียดการประมวลแนวโน้ม CSR ปี 2554 ในทิศทางอื่นๆ สามารถศึกษาได้จากรายงาน “6 ทิศทาง CSR ปี 2554: Reporting your CSR” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ สอบถามเพิ่มเติม 0-2930-5227 info@thaipat.org หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.thaipat.org...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, February 03, 2011

อั่งเปา-คติถือ คือ CSR (ชิมิ)

วันตรุษของชาวจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ หรือวันที่หนึ่ง (ชิวอิก) ของเดือนที่หนึ่งของปี เป็นการเริ่มเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ หรือเป็นช่วงขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ สำหรับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ของธุรกิจหรือกิจการ ด้วยคำอวยพร “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” หรือ ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่

ในวันตรุษจีน ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน คือ “ป้ายเจีย” เป็นการไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะส้มออกเสียงในภาษาจีนจะไปพ้องกับคำว่าความสุขหรือโชคลาภ ดังนั้น การให้ส้มจึงเหมือนนำความสุขหรือโชคลาภมาให้

สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของตรุษจีน คือ อั่งเปา (ซองแดง) คือ ซองใส่เงินที่ผู้ใหญ่แล้วจะมอบให้ผู้น้อย และมีการแลกเปลี่ยนกันเอง หรือใช้คำว่า แต๊ะเอีย (ผูกเอว) ที่สมัยก่อน เหรียญจะมีรูตรงกลาง ผู้ใหญ่จะร้อยด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ และนำมามอบให้เด็กๆ ซึ่งจะนำมาผูกเก็บไว้ที่เอว

วันที่ 1 เดือน 1 ของปีตามจันทรคตินี้ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป หรือเรียกว่าเป็น “วันถือ” โดยจะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน หรือบ้างก็เรียกว่าเป็น “วันเที่ยว” โดยจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและเที่ยวนอกบ้าน เป็นต้น (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

คติของการให้อั่งเปา หากเถ้าแก่จะนำมาใช้ในกิจการ นอกเหนือจากการมอบให้แก่ญาติพี่น้อง มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้องแล้ว ยังสามารถขยายไปสู่วัด โรงเรียนในชุมชนที่อยู่รายรอบกิจการ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาสในสังคมอื่นๆ ซึ่งหากการมอบนั้นทำในนามของบริษัท ห้างร้าน นั่นก็เรียกได้ว่า เป็นการทำ CSR อย่างหนึ่งในรูปแบบของการบริจาคเพื่อการกุศลหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ (Corporate Philanthropy) ที่ตรงกับเรื่องของ “ทาน” ในพระพุทธศาสนา และจัดว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมจำพวก “CSR-after-process” ที่เกิดขึ้นนอกกระบวนการธุรกิจ

ส่วนคติในวันถือที่เป็นการงดทำบาป (ในพจนานุกรม หมายถึง การกระทำผิดหลักคำสอนหรือข้อห้ามในศาสนา; ความชั่ว, ความมัวหมอง) ไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งหรือการเบียดเบียนคนอื่นรอบข้าง หากเถ้าแก่จะขยายให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ตั้งแต่เรื่อง การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงานที่เป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การไม่เอารัดเอาเปรียบคู่ค้า นี่ก็เรียกว่า เป็นการทำ CSR ที่มิได้แยกต่างหากออกจากกิจการ หรือเป็นการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Business Practices) ที่สอดคล้องกับเรื่องของ “ศีล” ในพระพุทธศาสนา และจัดว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมจำพวก “CSR-in-process” ที่อยู่ในกระบวนการธุรกิจ

ในพระพุทธศาสนา การทำทานและการรักษาศีลอย่างมั่นคงสม่ำเสมอของปุถุชนชาวพุทธ ถือเป็นเรื่องที่สมควรแก่การอนุโมทนาทั้งคู่ แต่กระนั้นก็ตาม อานิสงส์ของการทำทานและการรักษาศีล ย่อมมีระดับที่แตกต่างกันอยู่ในตัว ฉันใดฉันนั้น การที่ธุรกิจดำเนินกิจกรรม CSR-after-process และ CSR-in-process อย่างไม่เคลือบแฝง ถือเป็นเรื่องที่ควรสรรเสริญทั้งคู่ แต่แน่นอนว่า อานิสงส์ของกิจกรรม CSR-after-process และ CSR-in-process ของกิจการ ย่อมส่งผลต่อธุรกิจแตกต่างกันอย่างไม่ต้องสงสัย

วันตรุษจีนนี้ ก็ขอให้ทุกท่านได้รับพรอันประเสริฐ มั่งมีศรีสุข ค้าขายได้กำไร ร่ำรวยไม่เสื่อมคลาย มีคติถืออันเป็นสิริมงคลในทุกๆ วัน ตลอดปีใหม่นี้ด้วยเทอญ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link