Thursday, August 26, 2010

ทำ CSR แบบตัวจริงเสียงจริง (เสียที)

ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility) สามารถปรับให้เป็นทิศทางเดียวกับการทำธุรกิจได้ เป็นการแสวงหากำไร (Maximize profit) ไปพร้อมๆ กับลดปัญหาความขัดแย้ง (Minimize conflict) ที่อาจเกิดขึ้นกับบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด (Stakeholder) ทำให้กิจการสามารถทำธุรกิจได้อย่างราบรื่นและเกิดความยั่งยืน

เรื่องที่พูดกันมากในเวลานี้คือ การพัฒนา CSR เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic CSR ที่เป็นกลไกหรือเครื่องมือในการปรับทิศทางของธุรกิจและสังคมให้ไปในทิศเดียวกัน เป็นการผสานคุณค่าระหว่างองค์กรกับสังคมไปด้วยกัน เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ไม่เพียงเพื่อให้องค์กรได้รับการยอมรับเท่านั้น แต่ทำให้องค์กรสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย จากการสร้างความแตกต่างในกิจกรรม โดยไม่มองเพียงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย แต่ยังมองว่ากิจการมี Core Value หรือ Competency อะไรบ้าง ที่สามารถส่งมอบให้แก่สังคมได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงเป็นการมองทั้งแบบ Outside-In และแบบ Inside-Out นอกจากนั้น ยังเป็นการทำ CSR ในเชิงรุก คือ ไม่ได้รอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยไปแก้ไข หรือทำโครงการที่เป็นในลักษณะของการเยียวยา แต่เป็นการพยายามสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การทำ CSR เชิงกลยุทธ์ จะต้องเข้าใจหลักการ (Principle) และประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับ CSR ทั้งหมด และต้องรู้ความสัมพันธ์ของ CSR ระหว่างองค์กร สังคม และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ตลอดจนต้องเข้าใจว่า CSR ของแต่ละองค์กรนั้น มีความแตกต่างกันด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ ความเกี่ยวเนื่อง (Relevance) ความมีนัยสำคัญ (Significance) และลำดับความสำคัญ (Priorities) ของกิจกรรม CSR

ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า CSR ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องชุมชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม คู่ค้าทั้งที่เป็นผู้ส่งมอบ (supplier) และผู้แทนจำหน่าย (dealer) จนกระทั่งถึงลูกค้าหรือผู้บริโภค นอกจากนั้น CSR ยังเกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน และการกำกับดูแลองค์กร หรือที่เรียกว่า ธรรมาภิบาล โดยเฉพาะกับพนักงานขององค์กร อาทิ การจ่ายเงินเดือนตรงตามเวลา การให้สวัสดิการตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด หรือแม้แต่การมีหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาทักษะให้พนักงานสามารถก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็นับเป็นการทำ CSR อย่างหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า มิติของ CSR มีความครอบคลุมและสามารถนำมาพัฒนาเป็นนโยบายขององค์กรได้ และไม่ใช่ว่าทุกองค์กรจะต้องทำเหมือนๆ กัน กิจการจะต้องรู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับสังคม และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างไร องค์กรที่ไม่ได้สร้างผลกระทบในเชิงสิ่งแวดล้อม ก็อาจไม่จำเป็นต้องทำ CSR ในด้านสิ่งแวดล้อม เหมือนกับโรงงานหรือกิจการที่มีกระบวนการที่ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมทางใดทางหนึ่ง แต่เราอาจเน้นหนักหรือให้ความสำคัญกับเรื่องคน/พนักงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญของเราแทนก็ได้

ในการวางนโยบาย (Policy) ด้าน CSR ประการแรก องค์กรต้องสามารถจัดกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholder Segmentation เพื่อให้ทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นเป็นอย่างไร (how) นอกเหนือจากการระบุผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholder Identification ที่บอกแต่เพียงใคร (who) ที่เกี่ยวข้องหลัก/รองเท่านั้น ประการต่อมาคือ การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียเป้าหมาย หรือ Targeted Stakeholder Analysis เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ (why) ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์อย่างนั้น (ทั้งดีและไม่ดี) เพื่อนำไปสู่การกำหนดจุดยืนทางกลยุทธ์ หรือ Strategic Positioning ที่จะเป็นกรอบในการพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นๆ ได้อย่างตรงจุด

ในการนำไปสู่การปฏิบัติ (Practice) หลังจากที่เราได้กำหนดนโยบายแล้ว ผู้บริหารต้องนำนโยบายนั้นมาทำให้เกิด 3 สิ่ง คือ ก่อนทำต้องสร้าง Credibility เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการทำ CSR ระหว่างทำต้องได้ Performance โดยมีเครื่องมือในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน CSR อย่างเป็นระบบ และหลังทำต้องให้เกิด Recognition มิฉะนั้น สิ่งที่ลงทุนลงแรงทำอย่างตั้งใจและทุ่มเทก็อาจจะสูญเปล่า

สำหรับรายละเอียดของการดำเนิน CSR อย่างมีกลยุทธ์ ตามแนวทาง Triple Streamline (Principle -> Policy -> Practice) นี้ ปรากฏอยู่ในหลักสูตร CSR Day for Directors (ดูข้อมูลเพิ่มเติม www.csrday.com) ซึ่งออกแบบเฉพาะสำหรับผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัท สำหรับใช้ในการปรับวางทิศทางของ CSR ให้สอดคล้องกับทิศทางของธุรกิจ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการ หรือ Triple Bottom Line (People - Profit - Planet) นั่นเอง...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Friday, August 13, 2010

CSR กับ ถุงกล้วยแขก

“แม่ครับ ผมได้งานแล้วครับแม่” เสียงของเอก ชายหนุ่มลูกโทนวิ่งกระหืดกระหอบกลับบ้าน เพื่อมาบอกข่าวดีกับแม่ หลังจากที่เขาร่อนจดหมายสมัครงานไปหลายสิบแห่ง

“จริงหรือเอก แม่ดีใจด้วยจ้ะลูก” แม่ตอบด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นไม่แพ้เอก พร้อมกับยิงคำถามอีกชุดใหญ่อย่างที่เอกไม่ทันตั้งตัว

“แล้วไหน บริษัทอะไรที่รับเราล่ะ ไปทำตำแหน่งอะไร เงินเดือนดีมั๊ย ...”

“แม่...แม่...ใจเย็นๆ เดี๋ยวเอกจะเล่าให้ฟัง” พลันทั้งคู่ก็นั่งสนทนาจนลืมเรื่องราวที่อยู่รอบตัวไปชั่วขณะใหญ่

ชีวิตของเอกตั้งแต่เรียนหนังสือจนจบ ไม่ได้ราบรื่นเหมือนครอบครัวทั่วไป แม่เอกต้องทำงานรับจ้างหาเงินมาส่งเสียให้เอกโดยไม่เคยปริปากเอ่ยถึงความเหน็ดเหนื่อย ไหนจะต้องค่ากิน ค่าเช่าบ้าน ที่แม่ต้องแบกภาระโดยลำพัง แม้เอกจะกลับมาช่วยแม่หลังเลิกเรียนอยู่เป็นประจำ แต่ก็โดนแม่เอ็ดให้ไปทำการบ้านหรือท่องหนังสือทุกทีเหมือนกัน ด้วยหวังจะให้ลูกเรียนจบไวๆ และมีงานดีๆ ทำ จะได้ไม่ต้องมาเหนื่อยเหมือนแม่

*****************************

“ตั้งใจทำงานนะลูก อย่าไปเกี่ยงงาน ทำให้เขาเต็มที่นะ” คำอวยพรของแม่ที่ส่งไล่หลังเอกในวันแรกของการทำงาน

“รู้แล้วครับแม่” คำตอบที่ชัดถ้อยชัดคำระคนกับความมุ่งมั่นกับการได้พบกับประสบการณ์การทำงานหน้าแรกของชีวิต

*****************************

“เอาล่ะ ขอต้อนรับพนักงานใหม่ทุกท่านที่ได้เข้ามาร่วมงานกันนะครับ นอกจากข้อมูลทั่วไปของบริษัทที่อยู่ตรงหน้าน้องๆ จะได้เอาไปศึกษากันแล้ว พี่ยังมีเอกสารที่เป็นระเบียบของบริษัทและคู่มือพนักงานใหม่แจกให้กับน้องๆ ด้วย ในนี้จะพูดถึงเรื่อง...(โน้น)...(นี่)...(นั่น)...แล้วก็เรื่องของ CSR”

“วันนี้ เผอิญเรามีวิทยากรจากสถาบันไทยพัฒน์มาจัดกิจกรรม CSR Day ให้กับทางบริษัทพอดี พี่จึงถือโอกาสให้น้องๆ ทุกคนได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้กันเลย จะได้รู้ว่า CSR คือเรื่องอะไร”

*****************************

“CSR มาจากคำว่า Corporate Social Responsibility หมายถึง ....” เสียงวิทยากรหน้าใสไม่แพ้น้องๆ หน้าใหม่ เล่าเรื่องราวของ CSR ให้ได้ฟังกันอย่างทั่วถึง พร้อมกับสาธยายต่ออีกหลายยก

CSR เบื้องต้นที่น้องๆ ปฏิบัติได้ ก็คือ การทำหน้าที่ในงานที่ได้รับมอบหมายอย่างรับผิดชอบนั่นเอง ส่วนคำว่า สังคมที่เราต้องรับผิดชอบนั้น ใกล้ตัวน้องที่สุดก็คือ สังคมของเพื่อนร่วมงาน รวมถึงผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าของเรา ถัดออกมาหน่อยก็เป็นลูกค้าและคู่ค้าของบริษัท แล้วก็ครอบครัวและชุมชนของเรา ตลอดกระทั่งถึงสิ่งแวดล้อมทั้งที่อยู่รอบตัวและโลกที่เราอาศัยอยู่

เรื่อง CSR เป็นสิ่งที่จะต้องไปด้วยกันกับการทำงานหรือธุรกิจ “อย่าพยายามเอา CSR มาเป็นงาน แต่ต้องทำงานให้มี CSR” คือ ไม่ใช่ว่าทำธุรกิจก็เรื่องหนึ่ง ทำ CSR ก็อีกเรื่องหนึ่ง

“น้องคนไหนที่สนใจเรื่อง CSR เพิ่มเติม ก็ลองไปที่เว็บไซต์ thaicsr.com ก็ได้นะ เว็บนี้มีข้อมูลเพียบ...ขอบอก” วิทยากรตบท้ายการบรรยาย CSR ด้วย PR เนียนๆ

*****************************

สิ้นเดือนแรกของการทำงาน เอกดูเหมือนจะสนุกสนานเพลิดเพลินกับการทำงานอยู่ไม่น้อย จนเจ้านายเอ่ยปากชมว่า ตั้งใจทำงานดี และชอบช่วยเหลือผู้อื่น สามเดือนจากนี้ไป เอกคงจะผ่านการทดลองงานได้โดยไม่ยาก ที่สำคัญ เขาระลึกถึงคำอวยพรของแม่ที่ให้ไว้ในวันแรกของการทำงานอยู่ตลอดเวลา และคิดไว้ว่าจะต้องทำอะไรซักอย่างให้แม่ในวันนี้

“แม่ รู้มั๊ยที่บริษัทเขาสอนเอกตั้งหลายอย่างแน่ะ นอกจากที่แม่บอกให้เอกตั้งใจทำงานให้เต็มที่แล้วนะ ที่บริษัทเค้าบอกว่าต้องทำงานให้มี CSR ด้วยน้า”

“เอ้อ แม่ไม่รู้หรอก ไอ้ CSO หรือ CSR อะไรของแกน่ะ ขอให้เขาสอนแกเป็นคนดี ทำแต่สิ่งที่ดี มีความรับผิดชอบ ก็พอแล้ว”

“โห แม่นี่สุดยอดเลย รู้ได้ไงอ่ะ”

“แม่อ่านจากถุงกล้วยแขก เมื่อวันก่อนที่แกซื้อมาฝากน่ะ เห็นมีคอลัมน์ หน้าต่าง CSR แม่ก็เลยอ่านไป กินกล้วยแขกไป”

“จริงเหรอแม่ แล้วเค้าเขียนว่ายังไงอีก”

“แม่ก็จำไม่ค่อยได้ รู้สึกว่า เค้าจะมีโครงการ CSR Campus เดินสายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ บรรยายเรื่องศีลธรรมกับเยาวชน อะไรนี่แหละ แม่ก็เลยรู้สึกว่า CSR นี่ น่าจะเป็นอะไรที่เค้าสอนให้คนทำดี ไม่เบียดเบียนคนอื่นนะ”

(แม่ๆ อันนี้เค้าเรียก Tie-in) เอกคิดในใจและต้องรีบตัดบท พร้อมกับยื่นซองกระดาษหนาให้แม่

“โอเค แม่ นี่รางวัลสำหรับการตอบถูกต้องคร้าบ” เอกให้เงินเดือนๆ แรกทั้งเดือนกับแม่ ตามที่ได้ตั้งใจไว้

*****************************

(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR)

Thursday, August 05, 2010

Climate Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดขึ้น ได้เป็นทั้งความท้าทายและความเสี่ยงใหม่ขององค์กรธุรกิจที่จะต้องรับมือกันอย่างจริงจังเสียแล้ว โดยเฉพาะกับมาตรการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas Emissions) ในกระบวนการธุรกิจ ที่นับวันจะมีกฎระเบียบใหม่ๆ ออกมาบังคับ ทำให้เกิดต้นทุนการประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมหรือภาษีด้านสิ่งแวดล้อม หากธุรกิจไม่ปฏิบัติตาม หรือมีแรงกดดันจากคู่ค้าด้วยกันเองในสายอุปทาน

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้จัดทำรายงานเรื่อง “Transition to a Low-Carbon Economy: Public Goals and Corporate Practices” หนา 102 หน้า เผยแพร่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ในการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยความรับผิดชอบของกิจการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงแนวปฏิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติในส่วนที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและสิ่งแวดล้อม

เนื้อหาของรายงานฉบับนี้ มีความน่าสนใจตรงที่ได้แบ่งขั้นตอนการปฏิบัติของภาคธุรกิจออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (Accounting GHG) ลดปริมาณการปล่อย (Reducing Emissions) และชักนำผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม (Reaching out)

ในเรื่องการจัดทำบัญชีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจการ คิดจากหลักที่ว่า “you can manage what you know” คือ ถ้าองค์กรจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ต้องมี Baseline Data ก่อนว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ปริมาณการปล่อยของกิจการมีมากน้อยขนาดไหน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพภูมิอากาศอันส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจหรือไม่อย่างไร การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกนี้ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการวางนโยบายหรือแผนการลดปริมาณการปล่อยขององค์กรเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ อาทิ ผู้บริโภค หุ้นส่วนการค้า สถาบันการเงิน ฯลฯ จากการที่องค์กรได้แสดงให้เห็นถึงข้อสนเทศและแนวการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกิจการที่เป็นรูปธรรม

ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กิจการมีแนวโน้มที่จะเผชิญ ได้แก่ ความเสี่ยงจากกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นทั้งจากในประเทศและระหว่างประเทศ ความเสี่ยงในการประกอบการจากการที่ต้นทุนด้านพลังงานและคมนาคมเพิ่มขึ้นหรือจากความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ ความเสี่ยงในตัวผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่มีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้น (carbon intensive) ความเสี่ยงในการสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน ความเสี่ยงต่อชื่อเสียงจากการด้อยบทบาทในเรื่องดังกล่าว ความเสี่ยงทางกายภาพที่ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจ เช่น การขาดแคลนปัจจัยการผลิต ปัญหาสุขภาพจากมลภาวะ ความเสี่ยงต่อการเป็นคดีความจากการละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และความเสี่ยงในสายอุปทานกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากผู้ส่งมอบที่ไม่ดำเนินการปรับตัว

จากการสำรวจของ WRI/WBCSD (2008) พบว่ามีความริเริ่ม แนวปฏิบัติ หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนี้อยู่ไม่น้อยกว่า 70 แหล่ง อาทิ ISO 14067 (carbon footprint of products) ที่กำลังร่างกันอยู่ นอกเหนือจาก ISO 14025 (environmental labels and declarations) และในซีรีส์ ISO 14040 (environmental management - life cycle assessment) หรือแนวปฏิบัติสำหรับการบัญชีและการรายงานก๊าซเรือนกระจก (GHG accounting and reporting) สำหรับผลิตภัณฑ์และสายอุปทานภายใต้ GHG Protocol Initiative ที่กำลังจะเผยแพร่ภายในปีนี้

ในเรื่องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเด็นสำคัญคือการกำหนดเป้าหมายที่จะลด โดยแผนงานที่มีข้อมูลฐานมาจากส่วนแรกจะนำไปสู่ความก้าวหน้าที่วัดผลได้ และช่วยเพิ่มในเรื่องประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงาน อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีในองค์กร กลยุทธ์ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิผล จะต้องฝังรากความคิดและการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในกลไกการกำกับดูแลกิจการ (corporate governance) เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตั้งแต่คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานตลอดทั่วทั้งองค์กร

ในเรื่องการชักนำผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม จะเกี่ยวโยงกับผู้มีส่วนได้เสียสำคัญสองกลุ่มหลัก คือ คู่ค้าในสายอุปทาน (supply chain) และลูกค้าในสายคุณค่า (value chain) บรรดาบริษัทผู้นำในการลดรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ต่างใช้วิธีการในการชักจูงผู้ส่งมอบ (suppliers) และผู้บริโภค (consumers) ด้วยการให้ข้อมูล สร้างการรับรู้ ผลักดันให้มีการส่งมอบวัตถุดิบที่มาจากกระบวนการปล่อยคาร์บอนต่ำ จูงใจให้มีการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการผลิตและการขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนต่ำเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ธุรกิจยังสามารถชักนำด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐ การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาหรือในท้องถิ่นที่ธุรกิจไปตั้งถิ่นฐานประกอบการอยู่ หรือการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในระดับของการรณรงค์และการจัดทำโครงการความร่วมมือในลักษณะต่างๆ

ท่านที่สนใจอ่านรายงานฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.oecd.org/dataoecd/40/52/45513642.pdf...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]