Thursday, November 25, 2010

ต่อยอดเอสเอ็มอี ด้วย CSR Profile

ในธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเป็นเอสเอ็มอี เอกสารสำคัญ 2 ชิ้นที่ทุกองค์กรต้องมี คือ Product Catalogue กับ Company Profile เอาไว้สำหรับนำเสนอลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างให้เกิดธุรกรรมตามที่องค์กรได้ตั้งเป้าหมายไว้

หน้าที่ของ Product Catalogue มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนรู้ว่า เราขายอะไร (what) ผลิตภัณฑ์ของเราช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ท่าน หรือใช้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร พร้อมสรรพคุณกำกับว่า สินค้าและบริการของเรามีดีและโดดเด่นกว่าเจ้าอื่นอย่างไร

ส่วนหน้าที่ของ Company Profile มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนเชื่อมั่นว่า ทำไม (why) ต้องซื้อจากเรา องค์กรของเราน่าเชื่อถือและมั่นคงอย่างไร มีขอบข่ายการให้บริการกว้างขวางขนาดไหน และเมื่อเป็นลูกค้าแล้ว ย่อมไว้วางใจได้อย่างแน่นอน

แต่ในวันนี้ ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย มิได้คำนึงถึงเพียงคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือที่องค์กรมอบให้ตนเองอย่างไรเท่านั้น แต่ยังพิจารณาเพิ่มต่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนใช้หรือองค์กรที่ตนเป็นลูกค้าอยู่นั้นสร้างผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไรด้วย

ความต้องการในเอกสารหรือข้อมูลที่ทำให้คนเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และองค์กรในมุมมองของการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้มักจัดทำในรูปของรายงานที่เรียกกันว่า Sustainability Report หรือ CSR Report และมักจะมีให้เห็นแต่เฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ โดยในปัจจุบันมีกิจการอยู่หลายพันแห่งทั่วโลกที่ดำเนินการจัดทำรายงานเผยแพร่ดังกล่าว

แต่ก็ใช่ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีข้อมูลหรือจัดทำเอกสารประเภทนี้ไม่ได้ เพียงแต่เรายังไม่ค่อยเห็นเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากนัก สาเหตุหลักก็คงเป็นเพราะขาดแรงจูงใจหรือไม่เห็น Benefit มากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับเวลาและทรัพยากรที่ต้องใช้และมีอยู่ค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว

ทว่าก็มีเอสเอ็มอีหลายแห่งที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ทางธุรกิจต่อการเผยแพร่ข้อมูลความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เพียงแต่ไม่ได้ทำในรูปแบบที่เป็นทางการ เหมือนอย่างรายงานแห่งความยั่งยืนในองค์กรขนาดใหญ่ แต่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นการเผยแพร่ “ข้อมูลเด่นทาง CSR” หรือ CSR Profile เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน

CSR Profile จึงมีหน้าที่ในการทำให้คนรู้ว่า ผลิตภัณฑ์และองค์กรที่เขาเหล่านั้นใช้บริการอยู่นั้น ไม่สร้างผลลบ และ/หรือ สร้างผลบวกให้แก่สังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง (how good)

เมื่อพิจารณาเทียบกับ Product Catalogue ซึ่งมีข้อมูลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) เป็นหลัก หรือใน Company Profile ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและสายผลิตภัณฑ์ในภาพรวม เนื้อหาในเอกสารประเภท CSR Profile จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับผลดีหรือผลกระทบในเชิงบวกของผลิตภัณฑ์และองค์กรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแก้ไข (หรือคำมั่นว่าจะแก้ไข) ผลเสียหรือผลกระทบในเชิงลบที่ผ่านมาของกิจการ

ในทางปฏิบัติ เราอาจรวมข้อมูลใน CSR Profile ไว้ในเอกสาร Product Catalogue หรือ Company Profile ด้วยได้ แต่เนื่องจากกระแสเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกวันนี้ ได้รับความสนใจจากสังคม และผู้บริโภคก็มีความตื่นตัวมาก การเน้นให้ความสำคัญกับข้อมูลนี้ ด้วยการแยกเป็นเอกสาร CSR Profile จึงเป็นเรื่องที่หลายองค์กรดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อกระแส CSR ดังกล่าว

CSR Profile จึงสามารถพัฒนามาเป็นแค็ตตาล็อกทางธุรกิจอันทรงคุณค่าของกิจการ ที่ทำให้คู่ค้า/ลูกค้า รู้ว่าองค์กรของเรามีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถสร้างเป็นจุดขาย และการต่อยอดธุรกิจ ด้วยการค้นหาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ในเชิง CSR การแปลงจุดด้อยของผลิตภัณฑ์ให้เป็นโอกาสทาง CSR และการค้นหาตลาดใหม่จากการสำรวจความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ของกิจการ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 18, 2010

ทำรายงาน CSR ให้เป็นมากกว่ารายงาน

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative : GRI) ได้เดินทางมาเปิดเวิร์คชอปแนะนำการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 90 คน

หน่วยงาน GRI เป็นผู้ริเริ่มพัฒนากรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ด้วยความยึดมั่นในการปรับปรุงและการนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในระดับโลก โดยกรอบการรายงานของ GRI ปัจจุบันพัฒนาอยู่ที่ฉบับ G3 ได้มีการนิยามหลักการและตัวชี้วัด ซึ่งองค์กรสามารถใช้วัดและรายงานผลการดำเนินงานทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปควบคู่กัน

ในกรอบการรายงานฉบับ G3 ได้แบ่งกระบวนการจัดทำรายงานออกเป็น 5 ระยะ (Prepare -> Connect -> Define -> Monitor -> Report) โดยมีรายละเอียดในแต่ละระยะอย่างสังเขป ดังนี้

PREPARE - เป็นขั้นของการเตรียมการภายในองค์กร ซึ่งกิจการอาจมีการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญภายนอกได้ แต่จุดมุ่งหมายหลักคือการปรับวางกระบวนภายในให้พร้อมเริ่มต้น ด้วยความเข้าใจและสามารถระบุถึงแง่มุมที่สำคัญสุดขององค์กรในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

CONNECT - เป็นขั้นของการพูดคุยหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกองค์กรต่อเรื่องที่ได้เลือกมารายงาน อันนำไปสู่การกำหนดเนื้อหาของรายงานและการจัดเตรียมระบบที่ให้ได้มาซึ่งเนื้อรายงาน ในขั้นตอนนี้ กิจการจำต้องสามารถที่จะระบุตัวผู้มีส่วนได้เสียหลักๆ ทั้งในและนอกองค์กร เพื่อขอความเห็นประกอบการตัดสินใจต่อการจัดทำรายงานที่เหมาะสม

DEFINE - เป็นขั้นของการกำหนดเป้าประสงค์และเนื้อหารายงาน ซึ่งอาจมีการปรับกระบวนการภายใน ให้เอื้อต่อการจัดทำรายงาน หลังจากที่ได้รับฟังเสียงสะท้อนในองค์กรและข้อแนะนำจากภายนอก รวมถึงการพิจารณาเพิ่มเติมตัวชี้วัดสำหรับการรายงานในระยะต่อไป

MONITOR - เป็นขั้นของการติดตามเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการรายงานตามตัวชี้วัดที่กำหนด ข้อมูลที่ได้ต้องมีคุณภาพและความถูกต้องน่าเชื่อถือ มีวิธีการและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนนี้จะทอดระยะเวลานานสุดและดำเนินไปได้ไม่สิ้นสุด

REPORT - เป็นขั้นของการลงมือเขียนรายงาน ที่เริ่มจากการพิจารณารูปแบบและช่องทางของการรายงาน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ได้รับรายงานกันอย่างทั่วถึง โดยโครงสร้างของตัวรายงานนั้นไม่มีแบบที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับบุคลิกของแต่ละองค์กร อย่างไรก็ดี ในคู่มือของ GRI ได้ให้คำแนะนำสำหรับการวางโครงสร้างไว้เป็นแนวทางเบื้องต้นด้วย

กรอบการรายงานของ GRI ได้คำนึงถึงวิธีการวางแผนและนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึง และทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงานที่ถูกกำหนดให้เป็นกระบวนการ (Process) มากกว่าการกำหนดให้เป็นเพียงโครงการ (Project) ที่มุ่งหวังเพียงแค่เอกสารรายงานขั้นสุดท้ายเท่านั้น

เวิร์คชอปแนะนำการจัดทำรายงานที่ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ ได้เปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจในประเทศไทย สามารถนำความรู้ไปพัฒนาการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการ ให้มีความก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 11, 2010

ทำรายงาน GRI ให้ได้งาน CSR

นอกจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในเชิงของการกระทำแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้และต้องดำเนินควบคู่กันไป ก็คือ การเปิดเผยข้อมูลที่สามารถอธิบายถึงเป้าประสงค์ การวางแผน ขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงาน วิธีการติดตาม เกณฑ์การวัดผล ตลอดจนผลจากการดำเนินงานทั้งในทางบวกและลบที่พร้อมรองรับต่อการตรวจสอบจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ในรูปของการรายงานสาธารณะ (Public Reporting)

เมื่อพูดถึงกรอบการจัดทำรายงานสาธารณะซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางนั้น หนีไม่พ้นที่จะพูดถึงองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ทำงานในลักษณะเครือข่ายที่มีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนราว 20,000 รายทั้งในภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา รวมทั้งสมาคมการค้าต่างๆ จากกว่า 80 ประเทศ ช่วยเหลือร่วมมือกันพัฒนากรอบและแนวปฏิบัติในการจัดทำรายงานความยั่งยืน จนในปัจจุบันได้มีการประกาศแนวปฏิบัติหลัก หรือ Core Guidelines สำหรับการจัดทำรายงานเป็นรุ่นที่สาม (G3) และมีองค์กรธุรกิจที่จัดทำรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวปฏิบัติดังกล่าวนับหลายพันแห่งทั่วโลก

และเป็นครั้งแรกที่ GRI จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) แนะนำการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report อย่างเป็นทางการในประเทศไทย โดยวิทยากรจาก GRI (Mr.Enrique Torres) ผู้จัดการอาวุโสด้านการสอนและการอบรมเดินทางมาถ่ายทอดความรู้โดยตรงให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมทั้งจากบริษัทจดทะเบียน รัฐวิสาหกิจ เอสเอ็มอี และองค์การสาธารณประโยชน์ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรม

กรอบการรายงาน GRI ฉบับ G3 ได้ถูกหยิบยกมาแนะนำ พร้อมวิธีการใช้แนวปฏิบัติ G3 ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ในแบบเดียวกัน ตลอดจนการชี้ให้เห็นถึงเหตุผลและวิธีการที่กรอบแนวปฏิบัติ G3 สามารถช่วยให้องค์กรบริหารและรายงานผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

มีการอธิบายให้เห็นถึงกระบวนการรายงาน 5 ระยะตามแบบฉบับ GRI อย่างถ่องแท้ รวมทั้งเทคนิคการเลือกตัวชี้วัดด้วยการทดสอบสารัตถภาพ (Materiality Test) ที่จะช่วยคัดกรองตัวชี้วัดให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร ตลอดจนการระบุถึงระดับของการรายงานข้อมูลตามเกณฑ์อ้างอิง GRI

นอกจากนี้ GRI ยังได้พัฒนาคู่มือจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน “เส้นทางสร้างคุณค่า” ที่ชี้ให้เห็นวิธีการวางแผนและนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึงและทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงาน ซึ่งจะได้มาก็ต่อเมื่อการรายงานนั้นถูกกำหนดให้เป็นกระบวนการ (Process) มากกว่าที่จะทำเป็นโครงการ (Project) และมิใช่เป็นเพียงกระบวนการที่มุ่งหวังแค่เอกสารรายงานขั้นสุดท้าย

Mr. Enrique Torres วิทยากรจาก GRI ซึ่งเดินทางมาถ่ายทอดความรู้ในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ในหลักสูตรอบรมที่ได้รับการรับรองจาก GRI และมีประสบการณ์ด้านการอบรมให้แก่หน่วยงานทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม มากว่า 15 ปี

งานประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จัดขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียภาคองค์กร (Organizational Stakeholder) ของ GRI และสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) โดยได้รับการสนับสนุนจากเครือซิเมนต์ไทย (SCG) บมจ.บางจากปิโตรเลียม และ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท

องค์กรธุรกิจในประเทศไทยที่กำลังพัฒนารายงานแห่งความยั่งยืน จะได้ใช้แนวปฏิบัติของ GRI ในการสร้างกระบวนการจัดทำรายงานให้เป็นเครื่องมือ (mean) ในการขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กรตลอดทั้งปี มากกว่าที่จะมุ่งให้ได้รายงานเป็นจุดหมาย (end) ตอนท้ายปีเท่านั้น...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]