Thursday, July 08, 2010

เมื่อองค์กรถูกขนาบด้วย CSR

สัปดาห์ที่แล้ว มีประชุมโต๊ะกลมเรื่องความรับผิดชอบของกิจการ ในหัวข้อ "Launching an Update of the OECD Guidelines for Multinational Enterprises" ที่จัดขึ้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์เพื่อริเริ่มกระบวนการปรับปรุงแนวปฏิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติ ที่ได้มีการประกาศใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ปัจจุบัน

การทบทวน OECD Guidelines for MNEs ฉบับปัจจุบันที่มีรัฐบาล 42 ชาติได้เข้าร่วมในข้อตกลงได้เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประเทศที่มิใช่สมาชิก OECD และมิได้เข้าร่วมเป็นภาคี เพื่อปรับปรุงเนื้อหาของแนวปฏิบัติในหลายหัวข้อ อาทิ สายอุปทาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม นโยบายทั่วไปเกี่ยวกับความระมัดระวังตามสมควร การเปิดเผยข้อมูล แรงงานและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ การต้านทุจริต ประโยชน์แห่งผู้บริโภค และการเสียภาษี

การประชุมที่เพิ่งผ่านมานี้ ได้มีการหารือกันใน 3 หัวข้อหลัก คือ เรื่อง Suply Chains, Human Rights และ Environment/Climate Changes โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวง CSR จะได้เห็นทิศทางและแนวโน้มของการขับเคลื่อน CSR ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

ความรับผิดชอบของกิจการในสายอุปทาน หรือ CSR in Supply Chain เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากนับจากนี้ไป กรณีที่เกิดขึ้นในสายอุปทานไม่ว่าจะเป็นเรื่องความบกพร่องหรือการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติด้านแรงงานที่ไม่เป็นธรรม (เช่น ปัญหาของโรงงานของ Foxconn ในจีน) เป็นตัวเร่งเร้าให้บรรดาบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายต้องผลักดันให้ผู้ส่งมอบ ผู้ผลิตชิ้นส่วนในสายอุปทานแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานที่สากลยอมรับอย่างเข้มงวด

ผลสืบเนื่องที่ติดตามมาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่ว่าจะอยู่ในซีกโลกไหนก็จะต้องรับเอาข้อกำหนดเหล่านี้มาปฏิบัติต่อกันเป็นทอดๆ ด้วยความจำยอม (และอาจมาถึงองค์กรของท่านในไม่ช้านี้) แม้ไม่มีกฎหมายในประเทศบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม

ในหลายประเทศผู้ส่งมอบ บรรดา SMEs ต่างต้องปวดหัวและเสียเวลาไปกับภาระเกินจากการฝึกอบรม (Training) และการตรวจสอบ (Auditing) หลายซ้ำหลายซ้อนจากภายนอก เพียงเพื่อให้บรรดาคู่ค้ามีความเชื่อมั่นและวางใจในกระบวนการดำเนินธุรกิจของตนว่ามีความรับผิดชอบถึงขนาดที่ค้าขายกันได้ อุบัติการณ์นี้เป็นเงื่อนไขใหม่ที่องค์กรธุรกิจต่างต้องเผชิญในเวทีการค้าสากล

คำถามมีอยู่ว่า SMEs ต้องปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ สำหรับองค์กรธุรกิจกลุ่มหนึ่งอาจไม่ต้องปรับอะไร หากสินค้าและบริการยังเป็นที่ต้องการอยู่ หรือธุรกิจของท่านไม่เดือดร้อนเพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งพายอดขายจากคู่ค้าเหล่านี้ ในอีกมุมหนึ่งอย่าลืมว่า ท่านก็มีผู้ส่งมอบหรือผู้จำหน่ายวัตถุดิบในฝั่งต้นน้ำที่ต้องให้ความเชื่อมั่นกับท่านได้ว่าวัตถุดิบที่ได้รับมีความปลอดภัย ได้คุณภาพ และไม่สร้างปัญหากับสังคม (โดยเฉพาะกับลูกค้าของท่าน) ในภายหลัง หมวกใบหลังนี้ ท่านเองก็มีหน้าที่ตรวจตราในฐานะคู่ค้าที่ต้องการระดับของความรับผิดชอบต่อสังคมที่ยอมรับได้เหมือนกัน ต่างกันเพียง ใครจะส่งอิทธิพลต่อกันก่อนหรือหลังเท่านั้นเอง

ส่วนองค์กรธุรกิจที่ได้รับอิทธิพลจากคู่ค้าในแบบที่เลี่ยงไม่ได้หลบไม่พ้น ต้องเล่นตามกติกาใหม่ ท่านก็จำต้องศึกษาและหาวิธีบริหารจัดการกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพและคุณค่าจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตัวอย่างเช่น การรับการฝึกอบรมจากภายนอกที่มีความหลากหลายสะเปะสะปะและไม่ได้เนื้อได้หนัง ก็เปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) ของบุคลากรจากภายในอย่างต่อเนื่องเป็นระบบและทันต่อสถานการณ์ การบริหารการตรวจสอบกระบวนการจากหลายคู่ค้าที่กินเวลาและซ้ำซ้อน ก็เปลี่ยนมาเป็นการปรับกระบวนการให้เข้ากับมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่บรรดาคู่ค้าเหล่านั้นให้การยอมรับร่วมกันและมีระยะเวลาการรับรองและการตรวจสอบที่แน่ชัด เป็นต้น

ยังมีเนื้อหาอีกหลายส่วนจากการประชุมในครั้งนี้ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่มีการพูดถึงกรอบสหประชาชาติว่าด้วย “Protect-Respect-Remedy” และเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่พูดถึง GHG Accounting และแนวคิดการผนวกการรายงาน (Integrated Reporting) ด้านเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม ในรูปแบบ 3-in-1 ซึ่งจะหาโอกาสเล่าสู่กันฟังต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: