Thursday, June 24, 2010

อย่าสับสน CSR กับ Social Enterprise

วันนี้กระแสเรื่องการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ของกิจการต่างๆ ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีรูปแบบขององค์กรหรือคำเรียกใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ขององค์กรที่ต้องการยกระดับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมโลกที่มีพลวัตสูงขึ้น

คำเรียกใหม่ๆ ที่ได้ยินกันถี่ขึ้นในช่วงนี้ ก็มีอย่างเช่น Social Enterprise, Social Entrepreneur, Social Entrepreneurship ฯลฯ โดยมีผู้ที่พยายามเปรียบเทียบกับคำว่า CSR ว่าต่างกันอย่างโน้นอย่างนี้บ้าง จนชวนให้สับสนและบ้างก็เข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปก็มี

ความพยายามในการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง Social Enterprise กับ CSR ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจทั้งสองเรื่องได้ชัดเจนขึ้น แต่การเทียบโดยมิได้ศึกษาเนื้อหาอย่างรอบด้านของทั้งสองเรื่อง หรือมีเจตนาที่จะส่งเสริมเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเอนเอียง ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเสียแล้ว ความพยายามนั้นก็อาจส่งผลร้ายกับคนในสังคมที่บริโภคข้อมูลโดยขาดการพินิจพิเคราะห์ไปอย่างน่าเสียดาย

เริ่มด้วยรูปศัพท์ (Social) Enterprise คือ วิสาหกิจ, การประกอบการ ส่วน (Corporate Social) Responsibility คือ ความรับผิดชอบ คำแรกนั้นนำหน้าด้วย “การ” หมายถึง สิ่งหรือเรื่องที่ทำ (รวมๆ กันหลายเรื่อง ก็เรียก “องค์การ”) ขณะที่คำหลังนั้นนำหน้าด้วย “ความ” เพื่อแสดงสภาพของเรื่องที่ทำ การจะเปรียบเทียบ “การกระทำ” กับ “สภาพของการกระทำ” ก็อาจพิจารณาได้ว่าอยู่กันคนละฐาน ไม่สามารถนำมาเทียบกันโดยตรงได้

ด้วยเหตุที่ประเภทของวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น เป็นได้ทั้ง องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (non-profits) และที่แสวงหากำไร (for-profits) เมื่อการประกอบการเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคม ก็เรียกได้ว่า วิสาหกิจนั้นไม่ว่าจะแสวงหากำไรหรือไม่แสวงหากำไร ก็ถือว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยนัยอยู่แล้ว

ทั้งนี้ สำหรับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ก็มักเรียกว่า มี SR (ยึดตามฐานนิยมที่มองว่า Corporate มักเรียกกับองค์กรธุรกิจ จึงตัดตัว C ออก) ขณะที่องค์กรที่แสวงหากำไร ก็เรียกว่า มี CSR (อันที่จริงคำว่า Corporate หมายรวมถึงองค์กรประเภทอื่นได้ด้วย การที่หน่วยงานรัฐหรือองค์กรพัฒนาเอกชนจะเรียกว่าตนเองมี CSR ด้วย ก็ดูจะไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด) ดังนั้น Social Enterprise จึงมี CSR ในตัวโดยปริยาย

ส่วนที่มีการกล่าวว่า CSR คือ กิจกรรมเพื่อสังคม เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกิดขึ้นปลายทางหลังจากที่ธุรกิจมีกำไรและมั่นคงแล้ว จึงหาหนทางในการตอบแทนคืนสู่สังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่างจาก Social Enterprise ที่มีหัวใจหลักของการประกอบการอยู่ที่สังคมตั้งแต่ต้นทาง ถ้อยความนี้แสดงให้เห็นถึงการมอง CSR ในมิติที่เป็น CSR-after-process เพียงด้านเดียว

ในแวดวงขององค์กรที่ทำ CSR ทั้งในประเทศและนานาประเทศ ต่างเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในบริบทของ CSR นั้น เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นทาง หรือ ณ วันแรกของการประกอบการ เป็น CSR ที่ผนวกเข้าในกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจ (หรือที่เรียกกันว่า CSR-in-process) อาทิ การกำกับดูแลองค์กร การปฏิบัติด้านแรงงาน การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ประเด็นด้านผู้บริโภค ฯลฯ การที่มิได้ศึกษาเนื้อหาอย่างรอบด้านหรือจงใจที่จะตีความ CSR ในความหมายที่แคบ แม้จะมีเจตนาดีที่จะส่งเสริมเรื่อง Social Enterprise ให้แพร่หลาย แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลดีต่อความเข้าใจของสังคมในระยะยาว

แม้การที่องค์กรธุรกิจส่วนหนึ่ง จะพยายามใช้ประโยชน์จาก CSR ในการสร้างภาพลักษณ์หรือใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ จนทำให้คุณค่าของ “การปฏิบัติ” เรื่อง CSR ดูจะด้อยค่าลงไปในสายตาของสาธารณชน แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับ “หลักการ” ของความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้นิยามไว้

ในทำนองเดียวกัน การที่องค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่ง กำลังจะเปลี่ยนคำเรียกตนเองว่าเป็น Social Enterprise นั้น ก็อาจทำได้เพียงรูปแบบ (form) แต่มิได้ยกระดับการทำงานในเชิงเนื้อหา (substance) ด้วยการใช้ market-based strategies หรือ business models ในการตอบสนองวัตถุประสงค์ทางสังคมได้อย่างที่นิยามไว้เหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ เจ้าของกิจการหรือนักธุรกิจบางท่านที่กำลังจะผันกิจการไปสู่ Social Enterprise ก็ต้องพึงระลึกว่า ตนเองและพนักงานในองค์กรพร้อมแล้วที่จะปรับพันธกิจในการดำเนินงานขององค์กรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก หรือจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบปกติแต่มี CSR ที่สังคมให้การยอมรับ หรือจะดำเนินธุรกิจในแบบที่เรียกว่า Social Business โดยมีวัตถุประสงค์ทางสังคมกำกับ ซึ่งก็เป็นอีกคำหนึ่งที่มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้บุกเบิกธุรกิจเพื่อสังคมในบังกลาเทศ บอกว่ามีความแตกต่างจาก Social Enterprise (อีกแล้ว) ซึ่งในโอกาสต่อไป จะได้นำมาขยายความกัน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, June 10, 2010

โลกาภิวัตน์ความดีสู่เศรษฐกิจคุณธรรม

วันนี้ขอเปลี่ยนบทบาทเป็นนักข่าวภาคสนาม รายงานจากแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากได้รับเชิญเป็นวิทยากรร่วมอภิปรายในการประชุมนานาชาติ ว่าด้วยเรื่อง “Globalization for the Common Good” ภายใต้หัวข้อ “In Search of the Virtuous Economy: A plea for Dialogue, Wisdom, and the Common Good” ซึ่งจัดขึ้นที่ California Lutheran University, Center for Leadership & Values ในระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2553

งานนี้เป็นการรวมตัวกันของบรรดานักวิชาการจากนานาประเทศร่วม 60-70 คน เพื่อมาแลกเปลี่ยนทัศนะและค้นหาวิถีการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานคุณธรรม เพื่อเป็นหนทางในการพลิกฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจในวิถีปัจจุบันที่กำลังนำพาโลกเข้าสู่ทางตัน ก่อปัญหานานัปการทั้งด้านการทำมาหาเลี้ยงชีพ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต

หลักการสำคัญที่ใช้ในการตอบโจทย์การประชุมครั้งนี้ หนีไม่พ้นเรื่องหลักธรรมคำสอนที่มีรากเหง้ามาจากศาสนาต่างๆ โดยมีผู้นำทางจิตวิญญาณของหลายศาสนาเข้าร่วมเสนอทางออกด้วยแนวคิดที่เชื่อว่าเจตนารมณ์ของศาสนธรรมที่จรรโลงให้มนุษย์ประพฤติปฏิบัตินั้น ตั้งอยู่บนฐานความดีเดียวกัน (Common Good) และจะอภิวัฒน์อย่างไรเพื่อให้แผ่ขยายไปในวงกว้าง

ในเวทีย่อยวันแรก นอกเหนือจากการระบุถึงที่มาของปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีทีท่าว่าจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ อันมีสาเหตุหลักมาจากความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีขีดสุดและยึดประโยชน์ตนเป็นหลัก ในที่ประชุมยังได้มีข้อเสนอถึงการปรับรูปแบบและวิธีการเผยแผ่เรื่องคุณธรรม จริยธรรม ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เฉพาะข้อเสนอนี้ ก็ทำให้สามารถแตกออกเป็นประเด็นในการพัฒนามากมาย อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เราได้ฉุกคิดว่า การปลูกฝังคุณธรรมความดีงาม ที่ดูจะพัฒนาไม่ทันกับยุคสมัยของสังคมทั่วทั้งโลก ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ดีการปรับรูปแบบหรือวิธีการในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องลดทอนหรือดัดแปลงหลักคุณธรรมให้เข้ากับยุคสมัย เพราะต้องเข้าใจว่าคุณธรรมความดีงามในจิตใจคนนั้น ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ก็มีเกณฑ์เดียวกัน เป็นแต่เพียงวิธีการถ่ายทอดหรือปลูกฝังที่จำต้องมีการทบทวน ผู้นำทางจิตวิญญาณที่ทำงานด้านนี้ จะต้องไม่แสวงหาความแพร่หลายหรือความนิยมด้วยการลดหย่อนหรือบิดเบือนข้อคุณธรรมเพียงเพื่อให้คำสอนของตนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

ข้อเสนออื่นๆ ที่ได้พูดคุยกัน มีทั้งที่เป็นข้อเสนอสำหรับภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นอกเหนือจากภาคการศึกษา ในส่วนที่เป็นระดับธุรกิจ จะมาจากเวทีอภิปรายในหัวข้อ “Role of Business Education in Creating Prosperity based on Moral Responsibility” และหัวข้อ “Mass Media, Finance Crises and Social Responsibility: The Quest for Ethical and Balanced Reporting”

ในส่วนของภาคสังคม มีเวทีที่ถกในประเด็นสำคัญๆ อย่างเช่น “Civic Engagement for the Elder and Opportunities for Community Service” และ “Engaging Youth Spirituality for Positive Change” รวมทั้ง “The Democratization of Philanthropy: Positive Alternatives to Traditional Ways”

สำหรับเวทีที่ผมได้เข้าร่วมอภิปรายเป็นหัวข้อ “Ethical Investments for a Sufficiency Economy” ซึ่งมีผู้แทนจากทั้งศาสนาพุทธ (จากไทย) คริสต์ (จากอเมริกา) อิสลาม (จากอียิปต์) เข้าร่วมถกในประเด็นการลงทุนที่มีจริยธรรมต่อเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเสนอความเคลื่อนไหวเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ

คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่ใช้อภิปรายกันในที่นี้ เป็นคำทั่วไป มิได้จำกัดอยู่เพียงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทย เราจึงได้เห็นทัศนะในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศอื่นๆ และจากมุมมองของศาสนาอื่นไปด้วยพร้อมกัน

ในเวทีนี้ นอกจากตัวผมเองซึ่งคลุกคลีอยู่ในแวดวง CSR จะได้มาอภิปรายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว วิทยากรอีกท่านหนึ่งซึ่งมาจากนิวยอร์ก ก็เป็นผู้ที่ทำงานด้าน CSR เช่นกัน เธอเป็นผู้อำนวยการ Interfaith Center on Corporate Responsibility ก็เป็นบทพิสูจน์บทหนึ่งว่า เรื่องของ CSR กับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ได้อยู่ไกลกันเลย ฉะนั้น องค์กรธุรกิจที่ทำเรื่อง CSR แน่นอนว่าจะต้องมีวิถีการดำเนินงานที่อยู่ในแนวของเศรษฐกิจพอเพียงไม่มากก็น้อย

ณ วันที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ การประชุมเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเป็นวันแรก ทางผู้จัดงาน ซึ่งมี Globethics.net เป็นหนึ่งในแม่งานหลัก จะได้มีการประมวลเนื้อหาและบทสรุปจากการประชุมเผยแพร่สู่สาธารณะในโอกาสต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของผู้จัดงานได้ตามสะดวกครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]