Thursday, April 29, 2010

ช้าๆ ไม่ได้พร้าเล่มงาม (เสียแล้ว)

การให้ความสำคัญกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในลักษณะ “ทำก็ต่อเมื่อเกิดเรื่อง” คือ เมื่อเกิดปัญหาหรือข้อร้องเรียนขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ แล้วจึงค่อยเข้าไปดำเนินการเยียวยา ฟื้นฟูหรือแก้ไขปัญหาหรือข้อร้องเรียน เพื่อยุติหรือบรรเทาผลกระทบที่อาจติดตามมาสู่องค์กรนั้น ดูจะมิใช่มาตรการที่เพียงพอสำหรับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในปัจจุบันเสียแล้ว

เริ่มต้นที่ Responsive CSR
Responsive CSR เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตอบสนองต่อประเด็นปัญหาหรือข้อร้องเรียน เพื่อให้สังคมเห็นว่าองค์กรของตนเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบหรือได้ปฏิบัติตัวในฐานะขององค์กรพลเมืองที่ดี (Good Corporate Citizen) ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการทำ CSR ในเชิงรับ

วิธีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบนี้ องค์กรธุรกิจมักจะศึกษาข้อกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐานหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาปฏิบัติเพื่อปรับให้เข้ากับมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และยังคงมุ่งรักษาคุณค่าขององค์กรไม่ให้ได้รับความเสียหาย

กิจกรรม CSR ภายใต้รูปแบบนี้ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีปัญหาหรือข้อร้องเรียนจากการดำเนินธุรกิจไปสู่สังคม หรือสังคมมีการเรียกร้องให้กิจการดำเนินความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เป็นการผลักดันให้มีการริเริ่มดำเนินงาน CSR จากผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ภายนอกองค์กร ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับคำติมากกว่าคำชม หรือทำแล้วมีโอกาสเสียมากกว่าได้ อย่างดีก็แค่เสมอตัว ด้วยเหตุนี้ การปรับเปลี่ยนรูปแบบของ CSR จากการรับมือเป็นการร่วมมือ หรือจากการแก้ไขเยียวยาเป็นการป้องกัน ก็น่าที่จะให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีกว่า

พัฒนาสู่ Creative CSR
Creative CSR เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในลักษณะ “ทำโดยไม่รอให้เกิดเรื่อง” โดยคำนึงถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสังคมและองค์กร เน้นการสนทนาแลกเปลี่ยนร่วมมือกัน และมุ่งใช้ทักษะ ความถนัดและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ ในการดำเนินงาน CSR เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหา และข้อร้องเรียน ตลอดจนการช่วยเหลือพัฒนาชุมชนและสังคมด้วยการใช้ศักยภาพที่องค์กรมีอยู่เป็นหลัก

การดำเนิน CSR ในเชิงสร้างสรรค์นี้ จะก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ที่หลากหลาย เกิดนวัตกรรมทางด้าน CSR ที่ไปเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ และสร้างให้เกิดเอกลักษณ์แตกต่างจากรูปแบบอื่นๆ

 Responsive CSRCreative CSR
ลักษณะทำก็ต่อเมื่อเกิดเรื่องทำโดยไม่รอให้เกิดเรื่อง
วิธีการอิงมาตรฐานเหนือมาตรฐาน
ปฏิสัมพันธ์กับสังคมรับมือร่วมมือ
ผลลัพธ์ความสัมพันธ์ที่ปกติความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น
อานิสงส์มีหลักประกันมีภูมิคุ้มกัน

3 ระดับความสร้างสรรค์
ระดับความสร้างสรรค์ของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับแรก คือ มีความใหม่ในตัวกิจกรรมเอง ซึ่งยังไม่เคยมีองค์กรอื่นทำหรือริเริ่มมาก่อน ความใหม่นี้สามารถเริ่มจากการต่อยอดหรือพัฒนากิจกรรมที่มีอยู่เดิมของตนเองให้ดีขึ้น ขั้นต่อมาเป็นการดัดแปลงหรือยกระดับกิจกรรมขององค์กรอื่นให้ได้ผลมากขึ้น หรือขั้นสูงสุดที่เป็นนวัตกรรมจากการคิดขึ้นใหม่ล้วนๆ

ความสร้างสรรค์ระดับต่อมา คือ ความเป็นประโยชน์แก่สังคมหรือกลุ่มเป้าหมายที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน กิจกรรมที่มีความใหม่หรือมีนวัตกรรมในระดับแรก อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมหรือได้ประโยชน์น้อย เช่น การคิดค้นบุหรี่ไร้ควัน หรือ การช่วยเหลือชาวบ้านในที่ห่างไกลได้มีไฟฟ้าใช้ด้วยการติดตั้งแผงเซลแสงอาทิตย์ ซึ่งการดูแลซ่อมบำรุงจากหน่วยงานผู้ดำเนินกิจกรรมทำไม่ได้ มิพักต้องพูดถึงการให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแลซ่อมบำรุง

หัวใจสำคัญของกิจกรรม CSR ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนในตัวอย่างข้างต้นนั้น ชุมชนควรต้องได้รับประโยชน์และดูแลด้วยตัวเองได้หลังจากสิ้นสุดกิจกรรมหรือรับมอบโครงการจากองค์กรธุรกิจแล้ว ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง

ที่ผ่านมา มีหลายองค์กรที่ประกาศกิจกรรม CSR ของตนว่ามีความยั่งยืน ด้วยเหตุผลว่าองค์กรได้ดำเนินกิจกรรมนั้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ไปมอบเงินให้ชุมชนได้พัฒนาคุณภาพชีวิตทุกปี หรือไปมอบของให้ชาวบ้านได้ใช้ฝึกฝนอาชีพทุกปี สิ่งนี้ไม่อาจถือว่าเป็นความยั่งยืนได้เลย ตราบที่ชุมชนหรือชาวบ้านยังไม่สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ เมื่อถึงคราวที่องค์กรจำต้องยุติการช่วยเหลือในวันข้างหน้า

ความสร้างสรรค์ระดับสุดท้าย คือ ขีดความสามารถในการขยายผลกิจกรรม CSR สู่พื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมายอื่น โดยไม่จำกัดเฉพาะเพียงพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในโครงการเท่านั้น หลายกิจกรรมที่มีความใหม่หรือมีนวัตกรรมในระดับแรก และเป็นประโยชน์แก่สังคมหรือกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดในระดับที่สอง แต่ไม่สามารถที่จะขยายผลในระดับสุดท้ายได้ เราจึงเห็นการริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมที่เป็นแบบ “นำร่อง” มากมาย มีภาพฝันที่สวยหรูงดงาม ดูมีความหวังสุดๆ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นกิจกรรม “ตกร่อง” มลายหายไปกับสายลม สะท้อนใจอาสาของคน CSR มานักต่อนัก

องค์กรธุรกิจที่ต้องการทำ CSR เชิงสร้างสรรค์ด้วยการใช้ “อัตลักษณ์” (ตัวตน) ของกิจการ เพื่อให้ได้มาซึ่ง “เอกลักษณ์” (หนึ่งเดียว) ที่แตกต่างจากผู้อื่นนั้น อย่าลืมว่า ท่านจะต้องสร้างให้เกิด “อัตถลักษณ์” (ประโยชน์) ในกิจกรรมนั้นๆ ได้อย่างยั่งยืนด้วย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, April 22, 2010

ถึงเวลา “พนักงาน” ต้องมาก่อน

ที่ผ่านมา มีองค์กรหลายแห่งได้จัดตั้งคณะทำงาน หน่วยงาน หรือแผนกที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการดำเนินเรื่องของ CSR โดยตรง ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อย คือ มีพนักงานบางส่วนที่ยังไม่รู้ และไม่เข้าใจว่า CSR คืออะไร และเกิดคำถามขึ้นภายในใจว่า ทำไมจะต้องทำ CSR ทำ CSR แล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะเคยได้ยินเรื่อง CSR มาบ้างแต่ก็คิดว่า CSR เป็นเรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรง และเมื่อมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ตนเองจะต้องรับรู้ และเข้าไปมีส่วนร่วม

ยิ่งไปกว่านั้น หากหน่วยงานหรือแผนกที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่อง CSR ไม่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจ และให้พนักงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำ CSR และรับรู้ถึงสิ่งที่องค์กรกำลังทำ ก็ย่อมจะส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนิน CSR ขององค์กร และต่อการบรรลุถึงเป้าประสงค์ด้าน CSR โดยรวม

แม้ว่าเงื่อนไขความสำเร็จของการดำเนินงาน CSR จะต้องเกิดจากการที่ผู้บริหารเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนภารกิจด้าน CSR อย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่ความสำเร็จในงาน CSR ได้อย่างเต็มรูปแบบ จำเป็นที่จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากพนักงานในทุกระดับอย่างแข็งขันด้วย

องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาในการขับเคลื่อนงาน CSR มักมีสาเหตุมาจากการขาดช่องทางหรือพื้นที่สำหรับให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วม ข้อค้นพบในหลายกรณี ชี้ให้เห็นว่า แม้องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ จะได้ดำเนินกิจกรรม CSR สู่ภายนอกจนได้รับรางวัลต่างๆ นานา หากแต่พนักงานในองค์กรมิได้มีความรู้สึกภาคภูมิใจหรือมีส่วนในความสำเร็จร่วมกับองค์กรนั้นๆ ด้วย

การคำนึงถึงกลยุทธ์การดำเนินงานในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม จากการทำเฉพาะแผนก สู่การปรับแนวการทำให้ขยายทั่วทั้งองค์กร หรือ From “Department” to “Alignment” จึงเป็นสิ่งจำเป็น การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมควรจะต้องเกี่ยวเนื่องอยู่ในทุกระดับ ทุกแผนก ตลอดจนถึงพนักงานทุกคนในองค์กร โดยการสื่อสารให้ผู้บริหารระดับสูงไปจนถึงพนักงานระดับล่างมีความรู้ ความเข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน ตั้งแต่รวมทั้งเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำ CSR ขององค์กรอย่างทั่วถึง

การพิจารณา CSR ในมิติที่เป็นระดับปัจเจกนี้ ก็คือเรื่องของการทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบ หรือหากพิจารณาในระดับองค์กร ก็หมายถึง การดำเนินธุรกิจแสวงหากำไรอย่างรับผิดชอบ ดังนั้นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่แท้จริง จึงต้องเกี่ยวข้องกับทุกคนในทุกส่วนงาน ทุกแผนก ทุกฝ่ายขององค์กร

เมื่อพนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ และได้มีส่วนร่วมในการทำ CSR ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงการปลูกฝังให้พนักงานมีคุณธรรม จริยธรรม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเคารพในสิทธิส่วนบุคคล และทำงานในหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงการช่วยเหลือชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ประโยชน์ที่ได้รับก็จะตกกับสังคม รวมไปถึงพนักงานไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ในขณะเดียวกันองค์กรก็จะได้รับประโยชน์ที่นอกจากการเป็นองค์กรที่ประสบผลสำเร็จในด้านการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือ ความไว้วางใจ และเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย

ปัจจุบัน ได้มีสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกันรณรงค์ให้องค์กรธุรกิจได้จัดกิจกรรมวันซีเอสอาร์ หรือ CSR DAY ขึ้น “ในสถานประกอบการ” เพื่อมุ่งให้เกิด “กระบวนการมีส่วนร่วมของพนักงาน” ในกิจกรรม CSR ขององค์กร และมีเป้าประสงค์ที่จะทำให้ “ทุกๆ วันของการทำงาน เป็นวัน CSR”

โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนขององค์กรธุรกิจชั้นนำที่ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน อาทิ ดีแทค บางจาก และแคท เทเลคอม และนับจนถึงวันนี้ได้มีสถานประกอบการต่างๆ เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมแล้วกว่า 100 องค์กร โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วทั้งสิ้นราว 4,500 คน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.csrday.com)

ที่สุด เมื่อการขับเคลื่อน CSR เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร ธุรกิจก็จะได้รับอานิสงส์จากการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในด้านของภาพลักษณ์องค์กร ความยอมรับจากชุมชนและสังคม ความไว้วางใจจากผู้บริโภค ความภาคภูมิใจในหมู่พนักงาน รวมถึงโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากที่สังคมจะได้รับประโยชน์จากกิจกรรม CSR เหล่านั้นโดยตรง...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Monday, April 12, 2010

บุกเบิกและส่งต่อกิจการ (2)

โดยสุภาวดี เวศยพิรุฬห์ จากรายการ "บริหารธุรกิจแนวพุทธ"

ตำราธุรกิจเป็นส่วนหนึ่ง ของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กิจการ แต่ตำราเล่มเดียวกันอาจไม่สำเร็จทุกกรณี การกำหนดเป้าหมายธุรกิจว่าคือส่วนเติมเต็มของชีวิต ภายใต้เงื่อนไขความสมดุลของเถ้าแก่ต่างหาก ที่จะทำให้การเดินทางของกิจการย่างก้าวได้อย่างมั่นคง

หลักบริหารธุรกิจให้สมดุล คือการบริหารด้วยหลักธรรมะหรือธรรมชาติ โดยหลักพึงยึดถือปฏิบัติเพื่อรากฐานครอบครัวเริ่มต้นที่การครองตนของผู้ครอง เรือน ที่สามารถใช้เป็นรากฐานให้สามารถครองกิจการได้อย่างสมบูรณ์ ประกอบด้วย 4 ประการเหตุที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่ง (Kula-ciratthiti-dhamma: reasons for lastingess of a wealthy family)ได้แก่ "กุลจิรัฏฐิติธรรม 4" นัฏฐคเวสนาชิณณปฏิสังขรณาปริมิตปานโภชนาและอธิปัจจสีลวันตสถาปนา ซึ่งได้รับการอธิบายจากผู้รู้คนสำคัญวิทยากรประจำรายการบริหารธุรกิจแนวพุทธ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ โดยเปรียบเทียบกับการบริหารธุรกิจครอบ ครัวสมัยใหม่ใน 3 ด้านคือ Asset Management, Cost Management และ Good Governance ไว้อย่างน่าสนใจที่จะนำมาถ่ายทอดกล่าว คือ

นัฏฐคเวสนา : ของหาย ของหมด รู้จักหามาไว้ (Natthagavesana: seeking for what is lost) เมื่อของในบ้านหายไปและยังอยู่ในวิสัยที่จะเสาะหากลับคืนมาหรือหาสิ่งอื่นมา ทดแทนการใช้งานได้เสมอประกอบกับชิณณปฏิสังขรณา :ของเก่า ของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม (Jinnapatisankharana : epairing what is worn out) หรือการรู้จักบำรุงรักษาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือให้อยู่ในสภาพดีพร้อม ใช้งานย่อมมีผลต่อค่าใช้จ่ายที่ต้องซ่อมแซมหรือแม้จะชำรุดไปบ้างก็สามรถปรับ ปรุงจนนำกลับมาใช้ได้อีกรวมถึงการนำของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ทั้ง 2 ด้านเป็นการบริหารทรัพย์สินหรือทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า

ปริมิตปานโภชนา : รู้จักประมาณในการกินการใช้ ( Parimitapanabhojana: moderation in spending ) เมื่อครัวเรือนรู้จักใช้สมบัติ รู้จักที่จะประหยัดอดออม รู้จักใช้จ่ายให้เป็นไปตามฐานะของตนเอง หรือเหมาะสมกับฐานะ ไม่ต่างไปจากการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ในเรื่อง Cost Management คือ สิ่งที่สถานประกอบการพึงรอบคอบและรัดกุมเพื่อให้เกิดความสมดุลในรายรับราย จ่าย ซึ่งปรากฏอยู่ในงบดุล (Balance Sheet) โดยอาศัยข้อมูลจาก Incomestaement และ Current Operation

เมื่อเป็นดังนี้แล้วการลงทุนให้เหมาะสมกับขนาดของกิจการจึงเป็นสิ่งที่สร้าง เสถียรภาพทางการเงิน ไม่แบกดอกเบี้ยให้เป็นภาระโดยไม่จำเป็นเพราะที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นทำงาน หนักเหนื่อยกลับไม่กินไม่ได้ใช้ไม่ได้พักผ่อนเพื่อส่งดอกเบี้ย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความราบรื่นในครอบครัวก็อาจได้รับผลกระทบตามมา

อธิปัจจสีลวันตสถาปนา : ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน (Adhipaccasilavantathapana: putting in authority a virtuous woman or man )ที่หัวหน้าครอบครัวต้องตั้งในหลักของศีลธรรม ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริต ละเว้นอบายมุข ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในกาม ย่อมส่งผลต่อการครองเรือนที่เป็นสุขและยั่งยืน เช่นเดียวกับผู้นำธุรกิจที่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนองค์กรด้วยคุณธรรม คือ นอกจากเป็นผู้นำที่เก่งมีความรู้ความสามารถแล้ว ยังต้องเป็นผู้นำที่ดีมีธรรมาภิบาล (Good Governance) ซึ่งเป็นความปรารถนาของคู่ค้าและ Steakholder ในการร่วมธุรกรรมด้วย

ในทางตรงกันข้ามกิจการที่ก่อสร้างสร้างขึ้นโดยครอบครัวจะไม่สามารถมั่งคั่ง อยู่ได้นานหรือไม่อาจสืบทอดส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ หากครอบครัวหรือกิจการนั้นๆ ปราศจากหลักธรรมที่กล่าวมาข้างต้น ด้วย 4 เหตุผลดังต่อไปนี้

1.ไม่ แสวงหาวัสดุที่หายแล้ว หมายถึง เมื่อสิ่งของสูญหายและอยู่ในวิสัยที่จะหามาแทนแต่กลับไม่แสวงหา แม้มีทรัพย์สินมากมายเปรียบได้เท่าภูเขาเมื่อถูกหยิบออกทีละน้อยโดยไม่หามา ทดแทนไม่นานภูเขานั้นอาจหายไปทั้งลูก
2.ไม่บูรณะวัสดุที่ชำรุด คือ ไม่บำรุงรักษาและซ่อมแซม ไม่ดูแลใส่ใจกับสิ่งที่มีอยู่ ให้มีสภาพที่ใช้งานได้ ปล่อยให้เสียหายก่อนเวลาอันสมควร สุดท้ายก็ต้องดิ้นรนหาของใหม่มาใช้งานแทนสิ่งที่ใช้การไม่ได้
3.ไม่รู้จักประมาณการบริโภคทรัพย์จับจ่ายใช้สอยสมบัติที่มีเกินจำเป็น หรือเกินฐานะของตนและยังก่อหนี้ยืมสินสร้างภาระผูกพัน แม้มีทรัพย์สมบัติมากเพียงใดทรัพย์นั้นก็หมดได้ในพริบตาเพราะไม่รู้จัก ประมาณตน
4.สตรีหรือบุรุษผู้ทุศีลตั้งเป็นพ่อเรือนแม่เรือน มักครองเรือนด้วยการประพฤติผิดศีลธรรม จริยธรรมเมื่อปกครองครอบครัวและครอบครองทรัพย์สมบัติมักผลาญทรัพย์ที่มีให้ หมดไป

หลายท่านอาจมีข้อโต้แย้งว่าคุณธรรมโดยมีศีลเป็นพื้นฐานดูจะไม่สอดคล้องกับ การบริหารธุรกิจที่ต้องอาศัยการต่อสู้ช่วงชิงและหมิ่นเหม่ต่อการประพฤติธรรม แต่หากมองในทางกลับกันเมื่อท่านเองได้โอกาสในการร่วมธุรกิจกับผู้ที่มีศีล ท่านย่อมมีความสบายใจ ไว้เนื้อเชื่อใจและพร้อมให้อภัยหากการดำเนินธุรกิจอาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้น เช่นเดียวกับผู้ทำการค้ากับท่านย่อมต้องการ ความสบายใจ ไว้เนื้อเชื่อใจและพร้อมให้อภัยหากการดำเนินธุรกิจอาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้น เช่นกัน

หลักธรรมที่จะเป็นส่วนผสมให้องค์กรธุรกิจมั่นคงและสืบทอดได้นั้นยังมีองค์ ประกอบของวิถีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอีกหลายด้าน ซึ่งในครั้งหน้ามาติดตามกันต่อในเรื่อง จักร 4 ธรรมอุปการะสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนกันต่อค่ะ...(จาก ผู้จัดการ 360°) External Link

Monday, April 05, 2010

บุกเบิกและส่งต่อกิจการ (1)

โดยสุภาวดี เวศยพิรุฬห์ จากรายการ "บริหารธุรกิจแนวพุทธ"

การเริ่มต้นสร้างครอบครัวไม่ ต่างจากการเริ่มต้นธุรกิจและเกี่ยวพันกันยิ่งขึ้นหากเป็นธุรกิจครอบครัว เพราะผู้เริ่มต้นย่อมคาดหวังความยั่งยืนของกิจการ จึงพยายามค้นหาความอยู่รอดให้สามารถสืบทอดได้ถึงลูกหลาน “รุ่นแรกสร้าง รุ่นสองเติบโต รุ่นสามล้มเหลว” คือเหตุการณ์ที่เถ้าแก่ชาวจีนมักกังวล ว่าตระกูลของตนจะสามารถรักษาธุรกิจให้ก้าวสู่รุ่นที่ 3 อย่างราบรื่นได้อย่างไร จึงปรากฏเป็นวัฒนธรรมพร่ำสอนทุกแห่งทุกที่ที่สบโอกาส โดยไม่ผ่านตำราแต่อาศัยประสบการณ์และการบอกเล่าของหลงจู๊ประจำตระกูล

พัฒนาการของธุรกิจไทยนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองกับการเปลี่ยนแปลงอย่าง สิ้นเชิงเมื่อโลกทุนนิยมแผ่อิทธิพลครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจ ก่อให้เกิด พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ปี 2497 โดยจอมพล ป.พิบูลสงครามลุกขึ้นมาปกป้องด้วยนโยบายชาตินิยม ประเทศไทยเพื่อคนไทยเท่านั้นแต่กลับก่อให้เกิดกลุ่มทุนใหม่ที่มีอิทธิพลของ กลุ่มพ่อค้าจีนเข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ กลับกลายว่า นโยบายกีดกันคนจีนให้พ้นไปจากวงจรกลับเปลี่ยนเป็นนโยบาย "คุ้มครองธุรกิจคนจีน" ที่โครงสร้างมีจุดเริ่มต้นและรากฐานที่ฝังลึกอยู่กับความเป็น "ธุรกิจครอบครัว" ให้เติบใหญ่และมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุนธนาคารที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ก่อเกิดวัฒนธรรมการเกื้อกูลกับฝ่ายการเมือง แต่จะเห็นได้ว่าความแรงของกระแสการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของโลกก็ได้ผลักให้ หลายกิจการตกเวทีไปได้เช่นกันเห็นได้จากหลายกิจการต้องปิดหรือเปลี่ยนมือไป เมื่อเกิดแรงกระเพื่อมของกระแสโลกาภิวัตน์ ผู้ประกอบการจึงได้เรียนรู้คำว่า Change หรือความพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ในความคิดตลอดเวลา

ในโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองการบริหารธุรกิจครอบครัวกับ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs (Family Business and SMEs Study Center) เพื่อวางแผนการผลิตเนื้อหารายการ “เตี่ยกับเสี่ย” ต้องสะดุดกับข้อมูลจากกลุ่มวิจัย 106 ซึ่งอาจารย์เป็นรองประธานที่มีผลการศึกษาพบว่า อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวจากรุ่นแรกส่งต่อรุ่นที่ 2 อยู่รอดเพียง 30% ที่เหลืออีก 70 แห่งเลิกกิจการ จากรุ่นที่ 2 ส่งต่อไปยังรุ่นที่ 3 จะอยู่รอดเพียง 12% หมายถึงเลิกกิจการ 60% และจากรุ่น 3 ไปยังรุ่นที่ 4 จะเหลืออยู่รอดเพียง 3% และ 75% ไม่สามารถอยู่รอดได้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง และทายาทที่ก้าวมาแทนรุ่นก่อนอาจไม่สนใจในกิจการ แต่ต้องรักษาตำแหน่งไว้เพราะเป็นธุรกิจของบรรพบุรุษ

การศึกษาตำนานความสำเร็จธุรกิจครอบครัวระดับโลกอย่าง WallMart ที่มียอดขายปีหนึ่งๆ สูงกว่า GDP ของไทยถึง 2 เท่า สามารถก้าวสู่บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลกหลายปีซ้อน Sam ผู้ก่อตั้งลงมือสร้างกิจการด้วยจิตวิญญาณของเถ้าแก่ (Entrepreneurship) ผนวกกับวิสัยทัศน์ผู้นำ (Leadership Vision) และเปี่ยมล้นด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่น ช่างท้าทายความเชื่อว่าเขาสามารถอยู่รอดท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของ Supermarket อย่าง Saveway, Kroger ซึ่งครอบครองพื้นที่การค้าเกือบทุกมลรัฐของอเมริกา แล้วยังรายล้อมด้วยค้าปลีกขนาดยักษ์อย่าง K-Mart J.C Penny, Sear ที่ต่างได้รับความนิยมสูงยิ่งได้

สำหรับบริษัทชั้นนำของไทยที่กำลังอยู่ระหว่างการกุมบังเหียรรุ่นที่ 3 อย่างโดดเด่น เห็นจะเป็นกลุ่ม ซี.พี. เซ็นทรัล และสหกรุ๊ป ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่ากลไกของตระกูลที่ยังคงความเหนียวแน่นของโครงสร้าง ธุรกิจระบบครอบครัวได้นั้นนอกจากผู้ก่อตั้งเป็นสำคัญแล้ว

ความสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจเป็นอย่างดีด้วยวิสัยทัศน์ ของผู้บริหารแต่ละรุ่น ประกอบกับการปลูกผังทัศนะคติที่พัฒนาเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กร ได้แก่ ความสามัคคีของพี่น้องร่วมตระกูล เคารพในอาวุโสและความสามารถ ให้ความสำคัญกับความเป็นมืออาชีพในการบริหารโดยเปิดรับคนนอกและเปิดกว้าง สำหรับที่ปรึกษา ภายใต้การประสานผลประโยชน์ร่วม (Stakeholder) ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญ

เมื่อลงมือถ่ายทำรายการธุรกิจระดับตำนานไม่ว่าจะเป็น กิจการอายุเกินศตวรรษ สืบทอดมาถึง 5 รุ่นยาวนาน 140 ปี อย่างห้างทองตั้งโต๊ะกัง และ 108 ปี อย่างบริษัท คันกี่น้ำเต้าทอง จำกัด “น้ำเต้าทอง” หรือจะเป็นระดับกึ่งศตวรรษอย่างชาระมิงค์ 60 ปีแห่งนครพิงค์กับคน 3 รุ่นตระกูลวังวิวัฒน์, บริษัท ห้าตะขาบ จำกัด 3 รุ่น 70 ปี รวมถึงบริษัท สื่อสากล จำกัด ที่คุณขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ปลุกปั้นมากว่า 30 ปีที่ถึงเวลาของพี่น้อง 2 หนุ่มสาวกำลังรับช่วงต่อ อะไรคือเครื่องมือส่งมอบของกิจการเหล่านี้

ตำราธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กิจการ แต่ตำราเล่มเดียวกันอาจไม่สำเร็จทุกกรณี การกำหนดเป้าหมายธุรกิจว่าคือส่วนเติมเต็มของชีวิต ภายใต้เงื่อนไขความสมดุลของเถ้าแก่ต่างหาก ที่จะทำให้การเดินทางของกิจการย่างก้าวได้อย่างมั่นคง

การสนทนาในรายการบริหารธุรกิจแนวพุทธจากวิทยากรคนสำคัญ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อภิณัฏฐ์ กิติพันธ์ นักวิชาการภูมิปัญญาตะวันออก และดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มากกว่า 200 ตอน พบว่าหลักบริหารธุรกิจให้สมดุล คือ การบริหารด้วยหลักธรรมะหรือธรรมชาติ หากผู้ประกอบการสามารถนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตน ให้ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมใน 4 ระดับ คือ ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติและโลก

โดยเริ่มตั้งแต่ครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สมาชิกต่างมีภารกิจสำคัญ 2 ประการ

1.การที่ครอบครัวในฐานะสถาบันจะต้องมีความเป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และ
2.เมื่อสมาชิกเกิดขึ้นมาใหม่ ก็จะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้มีคุณภาพตามที่ประสงค์ย่อมเป็นสะพานเชื่อม การส่งต่อกิจการได้อย่างราบรื่น

หลักพึงยึดถือปฏิบัติเพื่อรากฐานครอบครัวเริ่มต้นที่การครองตนของผู้ครอง เรือน ที่สามารถใช้เป็นรากฐานให้สามารถครองกิจการได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยเป็นหลักธรรม 4 ประการเหตุที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่ง (Kula-ciratthiti-dhamma: reasons for lastingess of a wealthy family) ได้แก่ "กุลจิรัฏฐิติธรรม 4" ซึ่งประกอบด้วย

1.นัฏฐคเวสนา : ของหาย ของหมด รู้จักหามาไว้ (Natthagavesana : seeking for what is lost)
2.ชิณณปฏิสังขรณา : ของเก่า ของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม (Jinnapatisankharana: epairing what is worn out)
3.ปริมิตปานโภชนา : รู้จักประมาณในการกินการใช้ (Parimitapanabhojana: moderation in spending)
4.อธิปัจจสีลวันตสถาปนา : ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน (Adhipaccasilavantathapana : putting in authority a virtuous woman or man)


หลักธรรมที่กล่าวมานี้จะสามารถนำพากิจการของท่านจากรุ่นสู่รุ่นได้หรือไม่ ติดตามรายละเอียดได้ในสัปดาห์หน้า...(จาก ผู้จัดการ 360°) External Link

Thursday, April 01, 2010

ธุรกิจต้องทำ CSR ฤๅรัฐ&เอ็นจีโอหมดน้ำยา

ผลการสำรวจการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมเมื่อเทียบกับความคาดหวังของสังคมที่จัดทำโดย GlobeScan ใน 32 ประเทศ (ในรูปแสดงค่าเฉลี่ยของ 8 ประเทศ) เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าเส้นความคาดหวังที่มีต่อเรื่อง CSR เพิ่มขึ้น และมีค่าสูงสุดในรอบ 9 ปี ขณะที่การรับรู้ในผลการดำเนินงาน CSR ตกต่ำลงมาโดยตลอด โดยเฉพาะกับกลุ่มธนาคารที่ร่วงลงอย่างมาก


การรับรู้ที่ตกต่ำลงเช่นนี้ ส่วนหนึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากการไม่ได้ทำ หรือทำได้ไม่ดี แต่มาจากความล้มเหลวในการสื่อสารที่ไม่ได้ทำให้สังคมเชื่อถือในสิ่งที่องค์กรได้ลงมือทำจริง ซึ่งนำไปสู่การลดทอนคุณค่าของ CSR ให้เหลือไว้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์

ขณะที่การเพิ่มขึ้นของความคาดหวังนั้น ก็ไม่ได้มีสาเหตุจากความถดถอยในการทำ CSR ของภาคธุรกิจเพียงถ่ายเดียว แต่ยังเกิดจากความล้มเหลวในการทำหน้าที่ของรัฐ รวมถึงประสิทธิภาพของบรรดาเอ็นจีโอต่างๆ ในการตอบสนองความต้องการของสังคมด้วย จึงทำให้สังคมคาดหวังให้ธุรกิจรับบทบาทในการทำ CSR เพิ่มขึ้น

ในรายงานฉบับล่าสุดนี้ ยังได้ระบุด้วยว่า
จำนวนผู้บริโภคที่ปฏิเสธองค์กรธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบและให้การยอมรับองค์กรธุรกิจที่มีความรับผิดชอบมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในสหรัฐและแคนาดา รวมถึงในตลาดของประเทศที่กำลังพัฒนาขนาดใหญ่
พนักงานให้ความสำคัญกับคุณค่า CSR ในตัวของผู้บริหารเพิ่มมากขึ้น โดยมองว่า CSR สามารถเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานและความภักดีให้แก่องค์กร
นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า การลงทุนในองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมีความเสี่ยงน้อยกว่าองค์กรที่ขาดภาพลักษณ์ในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม


สิ่งสำคัญหนึ่งที่องค์กรธุรกิจยังมิได้ตระหนักในเรื่องของ CSR เท่าใดนัก คือ การเชื่อมโยง CSR เข้ากับกิจกรรมหลักทางธุรกิจ มิใช่การทำ CSR ที่แยกต่างหากจากกระบวนการทางธุรกิจ หรือมิใช่การใส่เสื้อคลุม CSR เพื่อปกปิดหรืออำพรางความเลวร้ายทางธุรกิจในแบบฉาบฉวย ซึ่งมักจะถูกเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง หรืออยู่ได้ไม่นาน ตรงกันข้ามกับกิจการที่สามารถผนวกเรื่อง CSR เข้ากับธุรกิจได้อย่างเป็นแก่นสาร จะสร้างให้เกิดขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อีกทางหนึ่ง

การที่ภาคธุรกิจลุกขึ้นทำ CSR และกำลังพัฒนาตนเองอย่างขะมักเขม้นนั้น ภาครัฐและเอ็นจีโอก็อย่าลืมสำรวจตนเองด้วยว่า เราได้ทำหน้าที่ตามที่ควรหรือไม่ หรือได้ยกระดับประสิทธิภาพการทำงานในการตอบสนองความคาดหวังหรือแก้ปัญหาสังคมได้ดีมากน้อยเพียงใดด้วย

เพราะการปล่อยให้ภาคธุรกิจฝึกฝนฝีมือจนทำหน้าที่ทั้งหมวกธุรกิจและสังคมได้อย่างชำนิชำนาญแล้ว อนาคตข้างหน้า ที่ยืนขององค์กรภาครัฐและเอ็นจีโอในสังคมอาจเหลือน้อยลงทุกที!!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]