Thursday, February 04, 2010

ทิศทาง CSR ไทย ปีเสือ

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องบรรษัทบริบาลในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ประเมินทิศทางซีเอสอาร์ของไทยเป็นประจำทุกปี ได้ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานแถลงถึงทิศทางและแนวโน้ม CSR ปี 2553 ซึ่งมีอยู่ 6 ทิศทางสรุปได้ ดังนี้

ทิศทางที่ 1 ธุรกิจจะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้น GREEN CONCEPT มากขึ้น

ในปีนี้ ผู้ประกอบการหลายแห่งจะให้ความสนใจกับการใช้ฉลากคาร์บอน กับผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร ควบคู่ไปกับประโยชน์ที่ได้จากการลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น หน่วยงานหลายแห่งจะทำงานร่วมกันในการรณรงค์ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

แนวคิดสีเขียวถูกนำมาใช้ในกระบวนงานต่างๆ อาทิ Green Design, Green Purchasing, Green Logistics, Green Meeting, Green Marketing, Green Services ฯลฯ รวมถึงการนำขยะหรือของเสียจากกระบวนการบริโภคกลับมาใช้ใหม่ด้วยการแปรรูปให้กลายเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตของภาคธุรกิจภายใต้หลักการ Greening Waste มีการปรับตัววัดทางเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกรอบของ Green GDP ซึ่งจะส่งผลให้ Green Business หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจะเติบโตมากในอนาคต

ทิศทางที่ 2 ความคาดหวังในบทบาทของรัฐต่อเรื่อง CSR จะสูงขึ้น หลังจากกรณีการถูกฟ้องให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 67

ในปีนี้ นอกจากที่รัฐบาลจะต้องกำชับให้หน่วยราชการต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการดูแลการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ตามทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยบูรณาการมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชุมชนให้เกิดความสมดุลทั้งระบบแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและชุมชนที่ก้าวพ้นจากการทำพอเป็นพิธีไปสู่การสนองความคาดหวังของชุมชนได้อย่างแท้จริง

แนวโน้มการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม (กรอ.สังคม) ที่ยกระดับจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายในแบบเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยอง รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 วรรค 2 จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น การส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ จะถูกกำหนดให้ดำเนินการในรูปแบบของเขตพื้นที่หรือเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์ (Eco Industrial Estate) เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ทิศทางที่ 3 การปรับจุดยืนในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมสู่จุดปกติใหม่ (New Normal) จะเกิดขึ้น สำหรับธุรกิจที่ไม่ต้องการลดทอนคุณค่า CSR ขององค์กรในระยะยาว

ประเทศไทยมีปัจจัยภายในประเทศที่ฉุดรั้งการพัฒนาและการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางสังคมที่รุนแรงขึ้น จากปัจจัยทางการเมือง คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพเสื่อมโทรมมากขึ้นจากการดำเนินธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบ และขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพของรัฐ ขณะที่ชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบต่างก็ลุกขึ้นมาทวงสิทธิในทุกช่องทางทั้งการใช้กฎหมายและการกดดันทางสังคม ภาคธุรกิจจึงต้องสำรวจและทบทวนบทบาทในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับของชุมชนและอยู่ร่วมกันในสังคมบนจุดปกติใหม่นับจากนี้ไป

ทิศทางที่ 4 มาตรฐาน ISO 26000 จะเริ่มลงหลักปักฐานในองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้ยกร่างมาตรฐาน ISO 26000 - Social Responsibility (SR) ให้เป็นมาตรฐานข้อแนะนำ (Guidance Standard) มิใช่มาตรฐานระบบการจัดการเพื่อใช้สำหรับการรับรอง (Certification) หรือนำไปใช้เป็นข้อบังคับหรือใช้เป็นข้อตกลง ด้วยเหตุนี้ การเสนอให้มีการรับรอง หรือกล่าวอ้างว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 26000 ซึ่งมีกำหนดจะประกาศเป็นมาตรฐานนานาชาติฉบับสมบูรณ์ในปี 2553 นี้ จึงผิดไปจากเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของมาตรฐาน

ทิศทางที่ 5 ประเด็นทาง CSR จะถูกหยิบยกเป็นมาตรการทางการค้าเพิ่มขึ้น ด้วยอัตราเร่งจากการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ

ในปีนี้ ภาคธุรกิจจำต้องศึกษาข้อมูลและปรับตัวรองรับทั้งโอกาสและผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี เพราะจากนี้ไป มาตรการภาษีนำเข้า มาตรการโควตาภาษี และอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ที่ขัดต่อความตกลงดังกล่าวจะต้องถูกยกเลิก ทำให้ประเทศต่างๆ จะหันมาใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ชนิดอื่นๆ ซึ่งอนุญาตให้แก่ประเทศสมาชิก WTO ด้วยวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืช และเพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีการค้าและก่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับแนวปฏิบัติทางซีเอสอาร์แทบทั้งสิ้น

ทิศทางที่ 6 การส่งไม้ต่อเรื่อง CSR ในภาคการศึกษา จะขยายลงไปสู่กลุ่มโรงเรียนเป็นครั้งแรก หลังจากที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้บรรจุวิชาซีเอสอาร์ไว้ในหลักสูตรมหาบัณฑิตในปีที่ผ่านมา

ในปีนี้เราจะได้เห็นโครงงาน CSR ที่ให้นักเรียนศึกษาทำความเข้าใจ CSR บูรณาการ ความคิดเชิงธุรกิจ และได้ลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันแสดงความเป็นจิตอาสารับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้การดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมในสถานศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 31,821 โรง ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2553-2555) ของรัฐบาล เป็นการวางรากฐานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการเตรียมบุคลากรให้มีจิตสำนึกพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในวันข้างหน้า

หวังว่าองค์กรธุรกิจที่สนใจสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางขับเคลื่อน CSR ของหน่วยงาน เพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าจากการดำเนินงาน CSR ที่สังคมตระหนักได้อย่างแท้จริงครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

4 comments:

Unknown said...

อ.พิพัฒน์
และทิศทาง CSR สำหรับองค์กรที่มิใช่ทางธุรกิจล่ะครับ เช่น ของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวง ทบวง กรม มหาวิทยาลัย หรือ หน่วยงาน NGO ควรเป็นอย่างไร และ น่าจะมีทิศทางไปอย่างไร

Unknown said...

เรียน ... ดร.พิพัฒน์

ยังจำน้องแว่นได้ไหมคะ แว่นส่งซีดีรายการฟ้าเมืองไทยให้ ดร.ที่สถาบันไทยพัฒน์ทางไปรษณีย์ค่ะ

จาก ..สิริรัตน์ ยนต์โยธินกุล (แว่น)

Unknown said...

To..ดร.พิพัฒน์

แว่นส่งซีดีรายการฟ้าเมืองไทยทางไปรษณีย์ให้แล้วนะค่ะ

นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ said...

จำได้ครับ น้องแว่น ขอบคุณมากๆ เลยครับ