Friday, December 19, 2008

องค์กรกระชับรูป (Lean Enterprise)

คอลัมน์ “บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม” ซึ่งหากจะเขียนในภาษาอังกฤษ ก็น่าจะมีชื่อว่า Business Administration & Social Responsibility นัยว่า จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับหลักการ แนวคิด ทฤษฎี รวมทั้งแนวปฏิบัติในการบริหารธุรกิจ ขณะเดียวกัน ก็มีส่วนประสมของความรับผิดชอบต่อสังคมผนวกอยู่ในวิถีของการดำเนินธุรกิจนั้นด้วย หรือถ้าจะพูดไม่ให้เยิ่นเย้อมากนัก ก็เป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง

ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นชื่อคอลัมน์ มิได้มีทัศนคติต่อธุรกิจในแง่ลบแต่ฝ่ายเดียว หรือคิดเอาว่าธุรกิจที่ผ่านมาไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเลยหรือ ในความเป็นจริง ทุกธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดหรือในสาขาใด ต่างก็มีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ ไม่อย่างนั้น กิจการนั้นๆ ก็คงไม่สามารถอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะสังคมหรือภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็คงไม่ปล่อยให้กิจการดำเนินอยู่โดยปราศจากการประณามหรือการลงโทษใดๆ

แต่ประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาอยู่ที่ “ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่ผ่านมานั้นเพียงพอหรือยัง” ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ในวันนี้สังคมเริ่มตั้งคำถามดังขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่ธุรกิจเองก็พยายามสำรวจตัวเองต่อประเด็นคำถามนี้อย่างจริงจังเช่นกัน

ผมไม่ได้มองแบบนักอุดมคติว่า ธุรกิจจะต้องลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เหลือศูนย์ หรือไม่ให้มีเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในวิชาเศรษฐศาสตร์เอง ก็กล่าวไว้ทำนองเดียวกันว่า ในทุกกระบวนการผลิต ก็คือ การทำลายรูปแบบหนึ่ง เป็นการแปรสภาพจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งหากสิ่งที่แปรสภาพใช้การได้ เราก็เรียกว่า ผลิตภัณฑ์ (product) ซึ่งรวมทั้งสินค้า (goods) และบริการ (service) แต่หากสิ่งที่แปรสภาพมาใช้การไม่ได้ เราก็เรียกว่า ของเสีย (waste) และในความเป็นจริง จะไม่มีกระบวนการผลิตใด ที่จะไม่มีของเสียออกมาเลย

ขณะเดียวกัน ในฝั่งของปัจจัยนำเข้า (input) สู่กระบวนการผลิต ธุรกิจก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นปัจจัยในการผลิตไม่มากก็น้อย ฉะนั้น ทุกกิจการไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ต่างก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดึงเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมดไปมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เพียงแค่ธุรกิจ แม้กระทั่งเราๆ ท่านๆ ที่นั่งอ่านบทความนี้อยู่ เราก็หายใจเอาอากาศดีจากธรรมชาติเข้าไปในร่างกาย แล้วปล่อยเอาอากาศเสีย คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ภายนอก หนทางแก้ในกรณีนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่การหายใจเข้าให้น้อยๆ เพื่อรักษาอากาศดีให้คงอยู่ไว้มากๆ หรือการหายใจออกให้น้อยๆ เพื่อไม่ไห้มีอากาศเสียมากกว่าที่เป็นอยู่

แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ร่างกายของมนุษย์นั้นมีวิวัฒนาการที่ก้าวล้ำมากกว่าองค์กรธุรกิจ หลายท่านอาจแย้งด้วยซ้ำไปว่า เอาไปเปรียบเทียบกันได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นความจริงว่า ธุรกิจยังต้องการการพัฒนาสมรรถภาพอีกมาก เราจึงได้มีเครื่องมือในการพัฒนาสมรรถนะทางธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดการของเสีย อย่างเช่น lean manufacturing และ six sigma ซึ่งในปัจุบันถูกรีแพคเกจในชื่อของ total quality management (TQM)

TQM เปรียบเสมือนเครื่องมือยุคแรกในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตรงที่มุ่งจัดการกับของเสียให้ลดลง ทำให้องค์กรปราศจากไขมันส่วนเกินจากการใช้ทรัพยากรนำเข้าที่ด้อยประสิทธิภาพ อันเป็นบ่อเกิดของการสูญเปล่า 7 ประการ ได้แก่ การผลิตเกิน (overproduction) การขนส่ง (transportation) การรอคอย (waiting) สินค้าคงคลัง (inventory) การชำรุด (defect) กระบวนการมากเกินไป (overprocessing) และการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น (unnecessary movement) โดยที่การพัฒนาเพื่อลดการสูญเปล่านี้ นำไปสู่การเป็น “องค์กรกระชับรูป” หรือ Lean Enterprise

ในปัจจุบัน เรากำลังก้าวข้ามบริบทของการพัฒนาเพื่อลดของเสีย มาสู่ยุคของการพัฒนาที่ไร้ของเสีย (zero waste) ที่ไม่ได้หมายถึงการลดของเสียให้เหลือศูนย์ แต่เป็นการออกแบบระบบการผลิตที่สามารถนำของเสียจากกระบวนการผลิตหนึ่งมาเป็นทรัพยากรนำเข้า (input) ของอีกกระบวนการผลิตหนึ่ง เช่น การนำขยะมาผลิตเป็นพลังงาน และเป็นยุคของการพัฒนาระบบการผลิตที่สามารถใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (renewable resources) ทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมดไป เช่น การผลิตที่อาศัยเชื้อเพลิงจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์

ดังนั้น เครื่องมือสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในวันนี้ จึงมีความน่าสนใจและตอบโจทย์หลายเรื่องที่เครื่องมือในยุคเก่าไม่สามารถให้ได้ ซึ่งจะได้ทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป...จากคอลัมน์ บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม External Link

รวมบทความ บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม

1. องค์กรกระชับรูป (Lean Enterprise)
2. ทิศทาง CSR ปี 2552
3. เมื่อ CSR ขยับเป็นวาระนานาชาติ
4. รายงาน CSR ประเทศไทย
5. การปลูกฝัง CSR ในองค์กร
6. การทำซีเอสอาร์เชิงระบบ
7. วิสัยทัศน์ CSR ระดับองค์กร
8. ข้อแนะนำ CSR สำหรับ SMEs
9. รางวัลโนเบลว่าด้วยธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ
10. เมื่อพบว่า การให้ ≠ การได้รับ