Thursday, April 17, 2008

CSR ในมุมมองของ OECD


เศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ได้ส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ บรรษัทข้ามชาติที่กล่าวถึงนี้ เป็นได้ทั้งบรรษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินงานในประเทศและบรรษัทในประเทศที่ออกไปดำเนินงานในต่างประเทศ โดยหากกลุ่มบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้มีบรรทัดฐานความรับผิดชอบต่อสังคมในการประกอบการอย่างโปร่งใส ไม่เอาเปรียบ และดูแลช่วยเหลือสังคม ก็ย่อมจะเป็นกลไกสาคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืนควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งของสังคม

ในบริบทระหว่างประเทศ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1961 โดยพัฒนามาจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นยุโรป ได้มีการพัฒนาแนวปฎิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติที่สามารถยึดถือปฏิบัติโดยสมัครใจเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ซึ่งแนวปฎิบัติดังกล่าวเรียกว่า “แนวปฎิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติ” (OECD Guidelines for Multi-National Enterprises)

OECD ได้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในหมู่ชาติสมาชิก 30 ประเทศ และการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนากับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกว่า 100 ประเทศ

แนวปฎิบัติ OECD เป็นข้อแนะนำการปฏิบัติที่เป็นไปโดยสมัครใจต่อการประกอบการของบรรษัทข้ามชาติ ที่มิใช่ข้อบังคับหรือเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า ถือเป็นข้อตกลงร่วมกันของรัฐบาลในกลุ่มประเทศ OECD และกลุ่มประเทศนอก OECD อื่นๆ โดยแนวปฎิบัติดังกล่าว มุ่งที่จะให้กลุ่มบรรษัทข้ามชาติดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในมิติที่หลากหลาย

ปัจจุบัน รัฐบาล 39 ชาติ จากประเทศสมาชิก 30 ประเทศและประเทศที่มิใช่สมาชิกอีก 9 ประเทศได้แนะนำให้ธุรกิจใช้แนวปฏิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines for MNEs) ในการดำเนินงานที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ความสัมพันธ์กับแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต้านทุจริต และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างตัวกิจการและภาคสังคมเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศและการขยายบทบาทการเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน

ความรับผิดชอบหลักของกิจการในมุมมองของ OECD ต่อการมีส่วนร่วมของธุรกิจโดยพื้นฐาน ก็คือ การทำธุรกิจ ดังนั้น บทบาทของธุรกิจต่อสังคม คือ การดำเนินการลงทุนเพื่อที่จะให้ผลตอบแทนที่เพียงพอแก่สังคมผู้ส่งมอบทรัพยากรต่างๆ ให้กิจการนำมาใช้ประโยชน์ นั่นคือ การสร้างงาน และการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ตามที่สังคมต้องการ

อย่างไรก็ดี ความรับผิดชอบของกิจการในบริบทของ CSR อยู่นอกเหนือจากหน้าที่หลักดังกล่าว แม้กิจการมีหน้าที่ที่จะปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ในทางปฏิบัติ มักต้องคำนึงถึงความคาดหวังจากสังคมที่มิได้ระบุอยู่ในข้อกำหนดทางกฎหมาย ทุกวันนี้ ธุรกิจจึงเผชิญกับความท้าทายไม่เฉพาะการดำเนินงานที่ต้องถูกกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต้องไม่ขัดกับจารีตของสังคมด้วย

ปัจจุบัน ยังมีข้อถกเถียงในเรื่องประสิทธิผลของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่เป็นไปโดยสมัครใจ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าจะเป็นหนทางนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานที่มีประสิทธิผลสำหรับการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง มองว่าเป็นเพียงภาพของการประชาสัมพันธ์ที่ไร้ผล หากแต่ต้องใช้วิธีกำหนดเป็นข้อผูกมัดทางกฎหมายและบังคับให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านั้น

สมาชิกประเทศ OECD เชื่อว่าการริเริ่มโดยสมัครใจจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจและสังคมหาหนทางที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ในหลายกรณีที่ซึ่งมาตรฐานของการปฏิบัติทางธุรกิจอันเป็นที่ยอมรับได้ยังคงมีความคลุมเครืออยู่ เห็นได้จากผลสำรวจของ OECD ในกิจการซึ่งมีการว่าจ้างหน่วยงานภายนอกทำงานให้ (Outsourcing) แทบทั้งหมดที่ได้เปิดเผยนโยบายเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานหลักตามแนวปฏิบัติของ OECD ได้ยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานที่ประกาศให้ผู้ส่งมอบรับทราบได้อย่างครบถ้วน ซึ่งเทียบกับเมื่อปลายทศวรรษ 1990 แล้วจะมีตัวเลขที่แตกต่างกันมาก

กระนั้นก็ตาม กิจการ 118 แห่งจากการสำรวจกิจการที่ดำเนินธุรกิจในสาขาที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานแรงงานหลักเป็นพิเศษจำนวน 147 แห่ง กลับไม่ยอมเปิดเผยนโยบายการว่าจ้างทำงานให้ ผลการวิจัยสะท้อนให้เห็นทั้งหลักฐานสนับสนุนความก้าวหน้าอย่างสำคัญต่อการสร้างบรรทัดฐานที่มีประสิทธิผลจากการดำเนินโดยสมัครใจ และหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าหลายกิจการน่าจะสามารถปฏิบัติได้มากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

ฉะนั้น การปล่อยให้ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการเป็นไปอย่างสมัครใจทางเดียว โดยปราศจากข้อผูกมัดและกฎระเบียบนั้น ก็ดูออกจะใสซื่อเกินไป OECD จึงสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ สร้างพันธะที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เช่น การมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาต่อการให้สินบนของเจ้าหน้าที่รัฐในต่างแดน หรือการบังคับใช้กฎหมายภาษีระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกัน OECD ก็ได้ย้ำเตือนว่า การใช้วิธีตราและบังคับด้วยข้อกฎหมายอย่างเดียวจะเป็นการแก้ปัญหาระดับโลกนี้ได้ทั้งหมดนั้น ก็ดูออกจะเลื่อนลอยเกินความเป็นจริงเช่นกัน

การริเริ่มที่ว่าด้วยความสมัครใจนั้น อันที่จริงแล้วก็ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงเท่าใดนัก เพราะคำว่า “สมัครใจ” ตามพจนานุกรม คือการกระทำที่ปราศจากการบังคับหรือการชักจูงจากภายนอก หากยึดตามนิยามดังกล่าวก็จะเห็นว่า หลายกิจกรรมที่ริเริ่มขึ้นนั้น มิได้เกิดจากความสมัครใจที่แท้จริง แต่เป็นการริเริ่มที่ตอบสนองต่อแรงจูงใจทางการเงิน แรงกดดัน (ที่มิใช่การบังคับ) ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ เช่น กฎระเบียบทางสิ่งแวดล้อมในสหภาพยุโรปที่เสนอสิ่งจูงใจ (Incentives) ให้สำหรับการดูแลจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือการผ่อนปรนคำตัดสินลงโทษ (Lenient Sentences) ในแนวปฏิบัติพิพากษาของสหรัฐต่อกิจการที่แสดงให้เห็นได้ว่ามีระบบบริหารจัดการที่เชื่อถือได้ในการป้องกันการละเมิดกฎหมายของพนักงาน

ด้วยเหตุนี้ ความคิดที่เชื่อว่าวิธี “การผูกมัดให้ทำ” จะให้ผลที่แตกต่างไปจาก “การริเริ่มเอง” จึงฟังไม่ขึ้น เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการริเริ่มเหล่านี้กลายเป็นองค์ประกอบที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากระบบที่มีอิทธิพลต่อวิธีปฏิบัติทางธุรกิจ สิ่งที่ท้าทายกว่าคือการส่งเสริมให้เกิดส่วนประสมที่ทำงานได้ (Workable Mix) ระหว่างการริเริ่มด้วยความสมัครใจเองจริงๆ กับการริเริ่มที่ตอบสนองต่อแรงจูงใจภายนอก และนำผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าสู่การดำเนินความรับผิดชอบตามบทบาทของตนเอง

การริเริ่มเองจากภายในเป็นบทบาทที่กิจการแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่สูงขึ้น แต่กิจการโดยลำพังก็ไม่สามารถที่จะสร้างบรรทัดฐานแห่งการปฏิบัติได้สำเร็จ หากปราศจากบทบาทของภาครัฐและภาคประชาสังคมต่อการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการแสดงบทบาทของตน โดยเฉพาะในแนวปฏิบัติของ OECD ระบุไว้ว่า ธุรกิจไม่ควรถูกเรียกร้องให้ทำหน้าที่รับผิดชอบในบทบาทของภาคีอื่น โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ของรัฐ รูปธรรมในแนวปฏิบัติของ OECD ยังชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการเป็นหุ้นส่วนร่วมกันระหว่างเอกชนและรัฐ (Private-Public Partnerships)

โดนัลด์ จอห์นสตั้น อดีตเลขาธิการ OECD (1996-2006) ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเชื่อมั่นว่าระบบกฎหมายและกฎระเบียบจะเป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมองค์กรให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยประสบการณ์อย่างยาวนานของการเป็นทั้งนักกฎหมายและเป็นผู้ออกกฎหมาย แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนความคิดและเชื่อว่าหลักการดังที่ปรากฎในแนวปฏิบัติของ OECD จะนำไปสู่การพัฒนาพลเมืองบรรษัทที่ดี (Good Corporate Citizenship) ภายใต้แรงจูงใจบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องถูกบังคับด้วยกฎหมาย แนวปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้บรรดาบรรษัทต่างๆ สามารถที่จะดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และยังช่วยให้องค์กรเหล่านั้นได้เข้าใจด้วยว่าการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบที่สมควรจะเป็นนั้นเป็นอย่างไร...(จากคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link [Archived]

(เรียบเรียงจาก Promoting Corporate Responsibility: The OECD Guidelines for Multinational Enterprises, 2004)