Tuesday, March 25, 2008

CSR กับการบริโภคที่ยั่งยืน

แนวคิดของการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption) เกิดขึ้นควบคู่กับเรื่องการผลิตที่ยั่งยืน โดยองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้นิยามไว้ในเอกสาร Advancing Sustainable Consumption in Asia : A Guidance Manual ซึ่งเผยแพร่ในปี 2548 ว่าเป็นแนวทางของการบริโภคสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล พร้อมไปกับการลดผลกระทบเชิงลบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั้งในยุคปัจจุบันและในอนาคต อันก่อให้เกิดผลเกี่ยวเนื่องสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

การส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนประเทศไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการนำเอากลยุทธ์การตลาดสีเขียว (Green Marketing) มาใช้ในภาคธุรกิจ ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสินค้าสีเขียว (Green Products) ออกสู่ตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดสีเขียวของประเทศไทยยังช้ากว่าประเทศอื่นๆ มาก เนื่องจากผู้บริโภคไทยไม่ค่อยผนวกเอาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้อพิจารณาในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ จึงทำให้การตลาดสีเขียวของไทยยังไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าใดนัก การรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นผู้บริโภคสีเขียว (Green Consumers) อย่างจริงจัง จึงเป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

เพื่อให้การขับเคลื่อนการบริโภคที่ยั่งยืนในสังคมไทยเกิดผลในเชิงรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้ร่วมกับ สถาบันไทยพัฒน์ และหอการค้าไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จัดการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ภายใต้หัวข้อ “สังคมไทยกับแบบแผนการบริโภคที่ยั่งยืน” ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มี.ค. 2551 ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ (บ้านราชวิถี) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้บริหาร ผู้แทนจากภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจต่างๆ มาร่วมระดมความเห็น โดยมีการนำเสนอภาพรวมของการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนในประเทศไทย พร้อมกับการอภิปรายสถานการณ์การบริโภคในปัจจุบันที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการระดมสมองเพื่อค้นหาแนวทางปฏิบัติด้าน CSR ในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการร่วมกำหนดนโยบาย CSR และร่วมผนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link [Archived]

Wednesday, March 05, 2008

จาริกบุญ ณ ศรีลังกา

เป็นความโชคดีในเรื่องเวลาที่ปลอดจากการบรรยายและกิจกรรมในงานวิจัยให้คำปรึกษาต่างๆ จึงทำให้ได้มีโอกาสเดินทางร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์ วัดภัททันตะอาสภาราม ในการจาริกบุญ ณ ประเทศศรีลังกา ในระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2551

คณะผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ ประกอบด้วยพระภิกษุ 3 รูปและฆราวาส 12 ท่าน ได้เดินทางกราบนมัสการ ต้นพระศรีมหาโพธิ์เมืองอนุราธปุระ อดีตเมืองหลวงเก่าของศรีลังกา ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ เป็นหน่อที่แยกมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นแรกที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งบำเพ็ญจนตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ตำบลพุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งพระนางสังฆมิตตาเถรี พระภิกษุณี อดีตราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำมาประดิษฐานไว้เมื่อราว 2,200 ปีมาแล้ว และกินเนสบุ๊คได้บันทึกไว้ว่าเป็นต้นไม้ที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลก

เมืองที่ตั้งชื่อตามกลุ่มของดวงดาวอนุราธ ซึ่งหมายถึง ความมั่นคง ความสมบูรณ์พูนสุข และเป็นเมืองหลวงมายาวนานถึง 1,500 ปี แห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของวัดอิสุรุมุณิยะ (Isurumuniya Vihara) ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 3 ซึ่งเชื่อกันว่าพระมหินท์อรหันต์ ราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้เคยมาจำพรรษาแรกที่วัดแห่งนี้ และพระมหาเจดีย์รุวันเวลิสายะ (Ruwanweliseya) หรือที่เรียกว่าพระเจดีย์สุวรรณมาลิก ที่ใหญ่และงดงาม เป็นต้นแบบพระเจดีย์ทรงโอคว่ำที่ถูกสร้างขึ้นในยุคหลัง เช่น พระปฐมเจดีย์ ในไทย รวมถึงวัดถูปาราม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมธาตุพระรากขวัญเบื้องขวา (กระดูกไหปลาร้าของพระพุทธเจ้า)

เมืองโปโลนารุวะ ได้กราบนมัสการพระอวุกนะ (Avukana) ที่มีความหมายว่า Sun eating เป็นพระยืนปางประทานพร ขนาดสูง 13 เมตร อายุกว่า 1,000 ปี เป็นพระพุทธรูปที่มีสภาพสมบูรณ์ประทับยืนที่หน้าผา สร้างโดยพระเจ้าธาตุเสนะ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 จากนั้น ได้เยี่ยมชมถ้ำดัมบูลาเมืองดัมบูลา ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี และเคยเป็นที่พำนักของกษัตริย์ Walagamba ถึง 14 ปี ภายในถ้ำจะประกอบไปด้วยพระเจดีย์ พระพุทธรูปแกะสลักหินปางสมาธิ และภาพวาดพระพุทธรูปสีสันงดงามตามผนังถ้ำที่มีอยู่ถึง 5 ห้องด้วยกัน

เมืองสิกิริยา ได้เดินทางขึ้นเขาสิกิริยา (Sigiriya Rock Fortress) ที่อดีตเคยเป็นป้อมปราการระฟ้า (Fortress in the sky) อันเลื่องชื่อ ในระหว่างทางขึ้นยอดเขา ยังพบภาพวาดสีเฟรสโก้รูปหญิงสาวชาวสิงหล ที่มีอายุกว่า 1,000 ปี ปรากฏให้เห็นร่องรอยตามผนังภูผา

เมืองแคนดี้ ได้กราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ที่วัดพระทันตธาตุ (Sacred Tooth Relic Temple) โดยพระทันตธาตุเขี้ยวแก้วองค์นี้ เป็นส่วนพระทนต์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ในสถูปทองแวววาวซ้อนกันถึง 7 ชั้น ตามตำนานเชื่อกันว่ามีทั้งสิ้น 4 องค์ โดยพระอินทร์เก็บรักษาไว้บนสวรรค์ชั้นฟ้าองค์หนึ่ง พญานาคาเก็บไว้ในบาดาลองค์หนึ่ง ส่วนองค์ที่ 3 อยู่ที่แค้วนคันธาระในอัฟกานิสถาน ซึ่งต่อมา หลวงจีนฟาเหียนอันเชิญมาไว้ที่นานกิง ในประเทศจีน ก่อนที่จะไปประดิษฐานที่วัดหลิงกวง ชานกรุงปักกิ่ง และองค์ที่ 4 อยู่ที่กรุงแคนดี้ อดีตราชธานีของศรีลังกา มาตราบจนปัจจุบัน ชาวศรีลังกาถือว่าพระธาตุเขี้ยวแก้ว คือศูนย์รวมดวงใจและเป็นสัญลักษณ์แห่งศรัทธาสูงส่งในพระพุทธศาสนา

กรุงโคลัมโบ ได้กราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและพระเจดีย์ ที่วัดกัลยาณีราชมหาวิหาร วัดนิกายสยามวงศ์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงโคลัมโบ ซึ่งชาวศรีลังกาเชื่อว่า เมื่อกว่า 2,500 ปี มาแล้ว พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์ทองคำที่วัดแห่งนี้ และพระพุทธเจ้าได้ทรงเทศน์โปรดชาวสิงหลเป็นครั้งแรกยังสถานที่นี้ ในวัดแห่งนี้ ยังมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 13 หน่อที่แยกมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่อนุราธปุระด้วย

ในระหว่างตลอดเส้นทางการเดินทาง คณะได้ร่วมกันบริจาคทำบุญในสถานที่สำคัญต่างๆ ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจกันถ้วนหน้า ในโอกาสนี้ ผมก็ขอส่งกุศลผลบุญที่เกิดขึ้นจากการจาริกบุญในครั้งนี้ และที่มีมาก่อนหน้า ให้แก่ผู้อ่านทุกๆ ท่านโดยทั่วกัน