Wednesday, December 19, 2007

วันนี้เรามีระบบสุขภาพพอเพียงแล้วหรือยัง

ประเทศไทยได้จัดทำ “แผนพัฒนาสาธารณสุข” มาตั้งแต่มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยในช่วงสามแผนแรก ระหว่าง พ.ศ. 2504 - 2519 กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ โดยเฉพาะโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 และ 5 (พ.ศ. 2520-2529) ได้ขยายบริการสาธารณสุขสู่พื้นที่ห่างไกลในชนบทควบคู่กับการพัฒนางานด้านสาธารณสุขมูลฐาน จึงทำให้มีโรงพยาบาลระดับอำเภอที่เรียกว่า “โรงพยาบาลชุมชน” ครบทุกอำเภอและมีสถานีอนามัยครบทุกตำบล

ต่อมา ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) พบว่าปัญหาสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป เนื่องมาจากวิถีการดำรงชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งค่านิยมใหม่ในสังคมไทย ที่เน้นการดูแลสุขภาพด้วยการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ

ดังนั้น เมื่อมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 - 8 (พ.ศ. 2535 - 2544) กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่จากเดิมที่มุ่งสร้างสถานบริการสาธารณสุข มาเน้นการพัฒนาโดยมีคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและหันมาให้ความสำคัญกับ “การสร้างสุขภาพดี” มากกว่า “การซ่อมสุขภาพ” เน้นที่การออกกำลังกาย การควบคุมการบริโภค และการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านต่างๆ รวมทั้งการรณรงค์ให้ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2544-2549) มีการนำโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค มาใช้เพื่อประกันสุขภาพให้แก่ประชาชนบางกลุ่ม โดยในระยะแรกได้ทดลองดำเนินการเฉพาะบางพื้นที่ ต่อมารัฐบาลในเวลานั้น ได้ขยายเป็นโครงการที่ดำเนินการเต็มพื้นที่ทั่วประเทศภายใต้นโยบาย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

สำหรับแผนพัฒนาสุขภาพ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) ได้ระบุวิกฤติสุขภาพไว้อย่างชัดเจนว่า การพัฒนาสุขภาพภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการทำลายสุขภาวะของสังคม การบริหารประเทศที่มุ่งพัฒนาแต่ด้านวัตถุและสนับสนุนบริโภคนิยม ส่งผลให้ประชาชนดำเนินชีวิตแบบแก่งแย่งแข่งขัน มุ่งเอารัดเอาเปรียบกัน ขาดความเอื้ออาทรและความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน สถาบันทางสังคมอ่อนแอ ครอบครัวแตกแยก เกิดความขัดแย้งและมีความรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง ไม่คุ้มค่า และก่อให้เกิดปัญหามลภาวะที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสุขภาวะของสังคมและสุขอนามัยของประชาชน

ขณะที่กระแสการตื่นตัวและความเอาใจใส่ต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวมก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน มีการส่งเสริมการแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น การปฏิรูประบบสุขภาพ งานด้านประชาสังคม ตลอดจนมีการรวมตัวเป็นกลุ่มหรือชมรมผู้บริโภคที่รักสุขภาพเพิ่มมากขึ้น การทวงถามถึงสิทธิผู้บริโภคและสิทธิผู้ป่วยขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด

การพัฒนาสุขภาพในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสุขภาพเชิงบูรณาการที่เป็นองค์รวม โดยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางหลัก แนวทางที่ว่านี้หมายถึงการพัฒนาสุขภาพทุกด้านทุกมิติให้มุ่งสู่ทิศทางเดียวกันเพื่อสร้าง “ระบบสุขภาพพอเพียง” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

สังคมไทยขณะนี้ กำลังเผชิญกับวิกฤติสุขภาพที่สำคัญ 3 ประการ คือ

วิกฤติแรก อยู่ที่ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของระบบบริการสาธารณสุขที่สูงมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยา รวมทั้งการพัฒนาระบบที่ผ่านมายังพึ่งพิงการนำเข้ายาและเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศที่มีราคาแพงและไม่เป็นธรรม

วิกฤติที่สอง เกิดจากกระแสการพัฒนาสุขภาพในสังคมสมัยใหม่ที่ทำให้ระบบสุขภาพภาคประชาชนอ่อนแอ ชุมชนไม่สามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้ มีปัญหาการพัฒนาระบบยาของชุมชน การมียาชุด ยาอันตราย ยาเสื่อมคุณภาพ กระจายอยู่ในชุมชน รวมทั้งการใช้ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช การใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งรัดการเจริญเติบโตของสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้เป็นอาหาร และการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้เป็นอาหาร เป็นต้น

วิกฤติที่สาม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติสองประการแรก คือ วาทกรรมทางด้านสุขภาพภายใต้ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยม ที่เชื่อว่า “เงิน” สามารถซื้อได้ทุกอย่าง แม้แต่ ชีวิต สุขภาพ และความงาม มีการสื่อสารสร้างความเชื่อกับผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม เห็นได้จากโฆษณาและการส่งเสริมการขายเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา จนส่งผลให้เกิดการบริโภคยา อาหาร หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตลอดจนบริการทางการแพทย์ที่เกินจำเป็น

จากวิกฤติสามประการข้างต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบสุขภาพพอเพียงจะต้องถูกสร้างให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และปลูกฝังให้เกิดเป็นฐานคิดใหม่ทางสุขภาพของสังคมไทย ด้วยแนวทางหลัก 4 ประการ ได้แก่

ประการแรก ผู้ให้บริการสุขภาพ ต้องประกอบวิชาชีพด้วยคุณธรรมและธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด มิใช่มุ่งประกอบการแต่ในเชิงพาณิชย์

ประการที่สอง องค์กรบริการสุขภาพ ต้องสร้างสมรรถนะในการพัฒนา ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้อยู่บนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สาม องค์กรสาธารณสุขภาครัฐ ต้องส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญา โดยเฉพาะเรื่องยาสมุนไพร เพื่อการพึ่งตนเองให้เกิดเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ในด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ รวมทั้งสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างกิจกรรมทางสุขภาพ (การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การคุ้มครองผู้บริโภค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ)

และประการที่สี่ สถาบันการศึกษา ต้องปลูกฝังบัณฑิตด้านสุขภาพให้มีความเมตตา กรุณา และคำนึงถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของผู้รับบริการ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาสุขภาพในระยะยาวของสังคมไทย... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เรียบเรียงจากเอกสารประกอบการประชุมระดมสมองครั้งที่สาม ชุดมิติสุขภาวะ โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

1 comment:

Unknown said...

สนใจเรื่องสุขภาพพอเพียงค่ะ โหลดฉบับเต็มมาอ่านแล้วเหมือนกันค่ะ ก็ยังสงสัยอยู่ว่าในพื้นที่ของเราหมายถึงรพ.น่ะค่ะ ในส่วนนี้ได้นำสุขภาพพอเพียงมาเป็นกรอบคิดรึเปล่า สงสัยโดยส่วนตัวน่ะค่ะ ถ้ามีข้อมูลดีๆส่งเกี่ยวกับสุขภาพพอเพียงรบกวนด้วยนะคะ
eiwnalinee@hotmail.com ขอบคุณต่ะ