Tuesday, October 16, 2007

โรดแมพประเทศไทยฉบับพอเพียง

วานนี้ (15 ต.ค.) ได้มีการจัดประชุมระดมสมองเพื่อพิจารณารายละเอียด ร่างแผนที่เดินทาง (road map) เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ผู้แทนจากพรรคการเมือง องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคมเข้าร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สำหรับการประชุมระดมสมองครั้งนี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่สาม โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียง และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

แม้ว่าประเทศไทยจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (2550-2554) ซึ่งเป็นแผนที่นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากำหนดเป็นวิสัยทัศน์ของการพัฒนาประเทศ ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 9 ซึ่งจัดทำขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ยังไม่มีแผนที่นำทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างชัดเจน และมีการดำเนินการเป็นขั้นตอนตามคุณลักษณะและเงื่อนไขที่สำคัญในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง

แผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงฉบับนี้ จึงถูกยกร่างขึ้นเพื่อสร้างให้เกิดความตระหนัก และความเข้าใจของคนในชาติต่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในขั้นตอนต่างๆ และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศในลักษณะที่บรรสานไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับเงื่อนไขคุณธรรมและความรอบรู้ ตลอดจนคุณลักษณะของความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี

เนื้อหาของร่างโรดแมพประเทศไทยฉบับพอเพียงนี้ เริ่มจากวิสัยทัศน์ที่ว่า "ประเทศไทยมีวิถีชีวิตและสังคมตามแนวทางพอเพียง มีภูมิคุ้มกันที่ทำให้อยู่ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ โดยมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม มีความมั่นคงทางสังคม มีความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีความสมดุลของการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม" ภายใต้ยุทธศาสตร์สามประการ ได้แก่ การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม การสร้างความมั่นคงทางสังคม และการสร้างความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แนวทางหลักในการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย การยกระดับคุณธรรมในสังคมและธรรมาภิบาลในการบริหารภาครัฐ การพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่ายให้เข้มแข็ง การส่งเสริมการเมืองแบบมีส่วนร่วมและการเมืองท้องถิ่นแบบสมานฉันท์ การฟื้นฟูดินน้ำป่าและการจัดการขยะ และการลดช่องว่างและสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ โดยมีตัวชี้วัดการดำเนินงานที่สำคัญ 15 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย ตัวชี้วัดด้านคุณธรรม 5 ตัวชี้วัด ตัวชี้วัดด้านความรอบรู้ 4 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดด้านความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน 6 ตัวชี้วัด

ในด้านคุณธรรม ได้แก่ สังคมที่มีความโปร่งใส มีปัญหาสังคมต่ำ ภาครัฐมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มีระดับการคอร์รัปชันลดลง การเมืองท้องถิ่นมีความสมานฉันท์ เพราะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม คดีความและความขัดแย้งในท้องถิ่นลดลง การมีส่วนร่วมของประชาชนมีมากขึ้น ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคม ประชาชนมีความซื่อสัตย์ มีความเพียร มีสัมมาอาชีวะ และมีจิตสำนึกสาธารณะ

ในด้านความรอบรู้ ได้แก่ สังคมที่มีความรอบรู้ มีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี และเป็นการเรียนรู้ที่นำไปสู่การสร้างความพอเพียงความสมดุลในการดำเนินชีวิต การรู้จักตนเอง รู้จักชุมชนของตนเอง และรู้จักโลก ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการการเรียนรู้จากบริบทชุมชนและบริบทสังคมที่เป็นจริง การมีวิทยาลัยชุมชนที่ผสมผสานการเรียนรู้ในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย มีการเรียนรู้ผ่านกระบวนการแผนแม่บทชุมชน มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายการศึกษาในระบบให้สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ประชาชนมีการทำบัญชีครัวเรือน ประชาชนมีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่จัดการหลักสูตรอย่างเหมาะสม เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาคนให้รู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ และเพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองในด้านเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมได้

ในด้านความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน ได้แก่ สังคมที่พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน ไม่มุ่งเน้นการพัฒนาจนทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีทั้งปริมาณและคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น สัดส่วนการใช้จ่าย/รายได้ลดลง และมีอัตราการออมเพิ่มขึ้น สถาบันครอบครัวเข้มแข็ง มีอัตราการหย่าร้างเด็กถูกทอดทิ้งลดลง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลดลง และมีอัตราการเปิดประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถพึ่งตนเองในด้านทุน และเทคโนโลยีได้ในบางระดับ

โรดแมพประเทศไทยใน 5 ปีแรก จะเป็นการสร้างรากฐานของเศรษฐกิจพอเพียงในสองส่วน ส่วนแรก เป็นการสร้างเงื่อนไขที่ก่อให้เกิด "การเปลี่ยนแปลงหรือการระเบิดจากภายใน" คือ การสร้างคุณธรรมและความรู้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขหรือปัจจัยนำเข้าที่สำคัญของความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนที่สอง เป็น "การปรับเปลี่ยนกลไกหรือโครงสร้างแวดล้อมภายนอก" ที่เอื้อให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานของรัฐ มีความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน ตามขั้นตอนที่เริ่มจากการปลูกฝังคุณธรรม การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้

การสร้างกลไกที่สนับสนุนความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน การปรับปรุง/ขจัดกลไกที่ขัดขวางความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน และการติดตามผล ทบทวนการดำเนินงาน และปรับปรุงกลยุทธ์ตามลำดับ ด้วยการใช้วัฒนธรรมชุมชน วัฒนธรรมองค์กร (ทุนทางสังคม) และทรัพยากรธรรมชาติ (ทุนทรัพยากรธรรมชาติ) เป็นเครื่องมือในการสร้างจริยธรรม การเรียนรู้ และพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างการเมืองสมานฉันท์ ส่วนกลไกภายนอกที่ควรสร้างเสริมหรือปรับเปลี่ยน จะมีทั้งกลไกที่เป็นกฎหมาย นโยบาย และงบประมาณ เป็นต้น

ข้อสรุปที่ได้จากการระดมสมองครั้งนี้ จะนำไปใช้เพื่อปรับปรุงเนื้อหาในแผนที่เดินทางฉบับสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของร่างแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงฉบับนี้ได้ทางเวบไซต์ www.SEroadmap.org ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link


Audio File ฟังรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง MCOT dot Net External Link

No comments: