Tuesday, May 08, 2007

จะเลือก ความผาสุก หรือ GDP

ผมยังประทับใจกับคำกล่าวของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันรับตำแหน่งในวันที่ 2 ตุลาคม 2549 ว่า “ผมจะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเอาไว้ … คงไม่ได้มุ่งในเรื่องของตัวเลขจีดีพีมากนัก แต่จะดูในตัวที่วัดความผาสุกของพี่น้องประชาชนมากกว่า”

ผ่านไป 7 เดือน มองในแง่ที่เข้าข้างรัฐบาล อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกตรวจการบ้านเศรษฐกิจผ่านทางตัวเลขจีดีพี แต่หากมองอย่างเป็นกลาง รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่เคยเสนอตัววัดความผาสุกอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถอธิบายหรือสื่อสารงานของรัฐบาลให้แก่พี่น้องประชาชนได้เข้าใจอย่างถ้วนหน้า ทั้งที่ได้ประกาศตั้งธงไว้แล้วนับแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง และที่น่าเสียดายยิ่งกว่า ก็คือ รัฐบาลกลับก้มหน้าก้มตาทำการบ้านอย่างขะมักขเม้นกับวาระทางเศรษฐกิจที่ยังยึดโยงอยู่กับตัวเลขจีดีพีอย่างเต็มสูบ

หากยังไม่สามารถตั้งต้นหาตัววัดความผาสุกของประชาชน มิพักต้องพูดถึงตัวชี้วัดความอยู่ดีมีสุขที่ประชาชนทั่วไปในระดับปัจเจกฟังไม่รู้เรื่อง ก็ขอให้ลองพิจารณาธรรมะในหมวดกามโภคีสุข 4 ที่ประกอบด้วย สุขที่เกิดจากความมีทรัพย์ (อัตถิสุข) สุขที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ (โภคสุข) สุขที่เกิดจากความไม่เป็นหนี้ (อนณสุข) และสุขที่เกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ (อนวัชชสุข) ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป็นเครื่องชี้ทางก็ได้

จะเห็นว่า ความสุขในสามข้อแรกเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของเศรษฐกิจ เริ่มจากการที่สมาชิกในครัวเรือนมีงานทำ ประกอบอาชีพที่สุจริต สร้างให้เกิดรายได้เข้าสู่ครัวเรือน เมื่อมีทรัพย์ ก็นำส่วนของทรัพย์นั้นมาจับจ่ายใช้สอยเกิดเป็นโภคสุข โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นการสร้างความสุขด้วยการใช้จ่ายเกินตัว หรือต้องพึ่งพาทรัพย์ที่กู้ยืมมาจากภายนอกเพื่อการใช้สอย (ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกู้ยืมในกิจการหรือสร้างงานเพื่อก่อให้เกิดรายได้ ที่ไม่อยู่ในข้อห้าม) และนำไปสู่อนณสุข หรือความสุขที่เกิดจากความไม่เป็นหนี้ ที่เป็นทั้งเครื่องกำกับและอานิสงส์จากการกระทำดังนี้อีกทอดหนึ่ง ส่วนความสุขในข้อที่สี่หรือ อนวัชชสุข จะครอบคลุมกว้างขวางไม่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เป็นความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครๆ ติเตียนไม่ได้ ถือเป็นความสุขที่มีค่ามากสุดในบรรดาสุข 4 อย่างนี้ (พระพรหมคุณาภรณ์: 2548)

จากกรอบของกามโภคีสุข 4 ทำให้เห็นว่า ครัวเรือนมิได้เป็นเพียงผู้บริโภคหลักในทางเศรษฐศาสตร์ดังที่ปรากฏโดยทั่วไป เนื่องจากความผาสุกของประชาชน มิได้จำกัดอยู่เพียงโภคสุขหรือสุขที่เกิดจากการบริโภค แต่ยังรวมถึงสุขที่เกิดจากการมีรายได้ในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตหนึ่งในกระบวนการผลิต ในบทบาทนี้จึงเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถตรงกับงานที่ทำ มีความขยันหมั่นเพียร สามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเองได้เต็มตามอัตภาพ เกิดเป็นอัตถิสุขขึ้น

ความสุขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเศรษฐกิจในกามโภคีสุข 4 อีกข้อหนึ่ง คือ อนณสุข หรือความสุขที่เกิดจากความไม่เป็นหนี้ เป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพย์ที่หามาได้สำหรับการใช้จ่ายและเก็บออม หรือเป็นเรื่องของการจัดสรรผลผลิตในครัวเรือนตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์

มีข้อสังเกตว่า ครัวเรือนยังอยู่ในฐานะที่เป็นเจ้าของกระบวนการผลิตอีกบทบาทหนึ่งด้วย งานหลายอย่างโดยเฉพาะงานบริการถูกผลิตขึ้นภายในครัวเรือน เช่น การทำความสะอาด การซักรีด การเตรียมอาหาร และการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตซ้ำโดยแม่บ้าน มิได้นำมาคำนวณเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจ เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มิได้ถูกจดบันทึก ฉะนั้น พึงสังวรณ์ว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ปรากฏในทุกวันนี้ มิได้รวมเอากิจกรรมการผลิตในครัวเรือนซึ่งถูกจัดว่าเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Economy) เข้าไว้ในการคำนวณด้วย

หากลองพิจารณาตามกระบวนทัศน์ของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มีความต้องการเพิ่มตัวเลขจีดีพีให้สูงขึ้น ด้วยการนำมูลค่าการผลิตในครัวเรือนเข้าสู่ระบบ ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำได้และอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากด้วย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและดูเหมือนสอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว ก็คือ วิวัฒนาการของการจ้างหน่วยงานหรือแรงงานภายนอกทำงานให้ (Outsourcing) ทั้งการทำความสะอาด การซักรีด การเตรียมอาหาร และแม้แต่การเลี้ยงดูบุตร ซึ่งทำให้มูลค่าของบริการเหล่านี้ สามารถบันทึกเป็นมูลค่าของเศรษฐกิจในระบบ (Formal Economy) ได้ง่ายขึ้น

ข้อดีที่เกิดขึ้นจากการให้หน่วยงานภายนอกทำงานให้คือ ผลิตภาพ จากความเชี่ยวชาญหรือความเป็นมืออาชีพของผู้ทำงานให้ (Outsourcee) และความสะดวกสบายหรือเวลาว่างที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ให้งานทำ (Outsourcer)

แต่ทั้งผลิตภาพและความสะดวกสบายหรือเวลาว่างที่เพิ่มขึ้น อาจมิได้นำไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ ความสุขที่เรียกว่า อนวัชชสุข หรือสุขที่เกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ เป็นความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครๆ ติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เนื่องจาก สมมุติฐานแรก การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายจากการจ้างผู้ทำงานให้ ทำให้ครัวเรือนต้องขวนขวายหารายได้เพิ่มด้วยการเป็นปัจจัยการผลิตของหน่วยการผลิตอื่นหรือต้องทำงานอิสระเพิ่มขึ้น ความสะดวกสบายหรือเวลาว่างที่เพิ่มขึ้น อาจต้องหมดไปกับการทำงานส่วนเพิ่มเหล่านี้

สมมุติฐานที่สอง ผลิตภาพที่ได้จากผู้ทำงานให้ อาจต้องแลกกับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะตัวอย่างเรื่องของการเลี้ยงดูบุตรโดยบุคคลภายนอก ที่สร้างความวิตกกังวลขึ้นว่า พี่เลี้ยงจะดูแลได้ดีหรือไม่ โอกาสเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายจากการปล่อยให้เลี้ยงดูตามลำพังมีมากน้อยเพียงใด สิ่งเหล่านี้พัฒนามาเป็นความเครียด ระคนความทุกข์ที่เกิดจากการไม่ทำหน้าที่ตามบทบาทอันสมควร กังวลอยู่ลึกๆ ว่าจะมีผู้ใดมาติเตียนได้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความภูมิใจ ความเอิบอิ่มใจ หรือ อนวัชชสุข ซึ่งถือว่าเป็นความสุขที่มีค่ามากสุดก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

การที่รัฐบาลจะรักษาหรือเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในระบบ หรือการสร้างหนี้ด้วยสารพันมาตรการที่กำลังออกมาจากสถาบันการเงินของรัฐ โดยไม่พัฒนาให้คนมีขีดความสามารถในการสร้างอัตถิสุขและส่งเสริมให้เกิดอนณสุขขึ้นพร้อมๆ กัน ก็เป็นที่เชื่อแน่ว่าเศรษฐกิจของประเทศที่อาจจะเติบโตขึ้นคงจะเป็นได้เพียงมายาภาพ และความผาสุกของพี่น้องประชาชนที่เป็นปณิธาณแรกเริ่มก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

No comments: