Tuesday, April 03, 2007

กระตุ้นเศรษฐกิจแบบ 3 ชั้น

เมื่อไรก็ตามที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นั่นหมายถึง รายได้ในกระเป๋าของประชาชนส่วนใหญ่มีน้อยลง ความเป็นอยู่ก็จะลำบากมากขึ้น ครัวเรือนใดที่พอมีเงินออมก็อาจจะไม่เดือดร้อนมากนัก แต่ครัวเรือนใดที่ต้องหาเช้ากินค่ำ เงินในกระเป๋าไม่พอจ่าย เรื่องการกู้หนี้ยืมสินก็จะตามมา ที่ร้ายกว่านั้นคือ บางคนหาทางออกไม่ได้ ก็จะต้องไปฝากความหวังไว้กับหวย การพนัน แก้ความเครียดด้วยเหล้ายาปลาปิ้ง อบายมุขต่างๆ ขาดสติปัญญา จนอาจนำไปสู่การคดโกง การลักทรัพย์ การฉกชิงวิ่งราว เกิดเป็นปัญหาทางสังคมตามมา นอกเหนือจากปัญหาทางเศรษฐกิจในตอนเริ่มต้น

การป้องกันไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงมีความจำเป็นในเบื้องต้น แต่การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยพิจารณาที่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว โดยละเลยความสัมพันธ์กับมิติทางสังคม อาจไม่ช่วยให้มาตรการที่ออกมาสัมฤทธิ์ผล

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ไหนแต่ไรมา มักจะออกมาในรูปแบบของการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ การพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และการส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชน ตัวอย่างของรูปแบบที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องที่ยอมรับในทางทฤษฎีว่าเป็นมาตรการที่พึงกระทำ ถือได้ว่ามาถูกทางแล้วครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งที่เหลือก็คือ บริบทของสังคมประเทศในขณะนั้นๆ เอื้อต่อการทำให้มาตรการเหล่านี้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริงหรือไม่

มาตรการที่เกี่ยวกับการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ กับสภาวการณ์ของบ้านเมืองที่บรรดาข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบใส่เกียร์ว่างหรือมีความระมัดระวังตัวเป็นพิเศษต่อความสุ่มเสี่ยงในการถูกตรวจสอบ ยิ่งต้องเพิ่มความรอบคอบรัดกุมในการปฏิบัติงาน คิดแบบง่ายๆ ก็คือ ไม่ทำอะไรดีกว่า หรือถ้าจำเป็นต้องทำ ก็ต้องแน่ใจเต็มร้อยว่าจะไม่ถูกเล่นงานในภายหลัง (ทั้งในรัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้า) ได้

มาตรการที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ต้องใช้ระยะเวลาในการก่อให้เกิดผลลัพธ์ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทอดเวลาไป 6 เดือนถึง 1 ปี จนเลยอายุของรัฐบาลชุดนี้ แม้ในระยะสั้น จะส่งผลทางจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นที่มีกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ ก็คือ มาตรการนี้ เกิดขึ้นเพราะเอกชนไม่ลงทุน ประชาชนไม่บริโภคใช้สอยตามปกติ ภาครัฐเลยต้องลงทุนใช้จ่ายเอง โดยคาดหวังว่าจะเป็นแรงส่งให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนและการใช้จ่ายของประชาชนตามมา ข้อเสียอีกประการหนึ่งของมาตรการนี้ ที่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึงกันสักเท่าใด ก็คือ เป็นเครื่องมือที่ทำให้ช่องว่างของการกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผลประโยชน์จากมาตรการนี้ อาจตกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม รวมกระทั่งถึงผู้ออกมาตรการที่ขาดธรรมาภิบาล

มาตรการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชน เป็นเรื่องของไก่กับไข่ ซึ่งมีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล เพราะเอกชนคงไม่จำเป็นต้องรอการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐมากนัก หากเขาเห็นโอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดที่มีการเจริญเติบโต หรือมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในทางตรงข้าม ไม่ว่าจะมีมาตรการส่งเสริมอย่างไรก็ไม่เป็นผล หากเขาไม่เห็นโอกาสหรือไม่มีความเชื่อมั่นเกิดขึ้น ซึ่งการสร้างความเชื่อมั่นนี้ จะไปเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับเรื่องของการเมือง (อีกนัยหนึ่ง คือเรื่องของสังคม เป็นการดูแลปกครองให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มาตรการที่กล่าวมาเป็นมุมมองของวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วไป ที่มิได้ผนวกเอาบริบทของสังคมในประเทศที่กำลังเป็นอยู่มาพิจารณาอย่างจริงจัง ซึ่งหากรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ และรองนายกฯ ฝ่ายสังคมได้มีโอกาสพูดคุยกันมากกว่านี้ อาจจะทำให้มีมาตรการเฉพาะกิจที่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติได้มากกว่าก็เป็นได้

ตัวอย่างที่เป็นไปได้ทางหนึ่ง ได้แก่ การจัดชั้นของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก (Grass Root) กลุ่มเศรษฐกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกลุ่มบรรษัทขนาดใหญ่ (Corporation) โดยคำนึงถึงบริบทของสังคมที่มีความแตกต่างกันในแต่ละระดับชั้น

ในกลุ่มฐานราก ปัญหาใหญ่ที่สะสมและไม่ได้รับการแก้ไข คือ “หนี้สิน” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนภาคเกษตรในชนบท และได้ลุกลามเข้ามายังครัวเรือนที่เป็นแรงงานในภาคเมือง จากนโยบายกระตุ้นและส่งเสริมการบริโภคในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชั้นที่หนึ่งนี้ ได้แก่ การแปลงการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของรัฐ ให้เป็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มฐานรากแทน

ในกลุ่มเอสเอ็มอี ปัญหาที่พบบ่อย คือ การขาด “โอกาส” ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ตลาดและแหล่งทุน ซึ่งในบางกรณี แม้จะมีโอกาสตามที่ต้องการ แต่ก็ต้องแลกด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง จนไม่สามารถแข่งขันได้ หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชั้นที่สองนี้ ได้แก่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยใช้ตลาดภาครัฐและหน่วยราชการ

ในกลุ่มบรรษัทขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยธุรกิจในประเทศหรือบรรษัทข้ามชาติ สิ่งที่ได้รับการเรียกร้องมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ก็คือ การสร้างให้เกิดความโปร่งใส หรือ “ธรรมาภิบาล” ในการดำเนินงาน การให้สิทธิประโยชน์อย่างเป็นธรรม การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะไปหนุนเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชั้นที่สามนี้ ได้แก่ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม (ซึ่งรวมเรื่องการเมือง) เชิงคุณธรรม... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

No comments: